การสะกดจิตและการรู้ตัว

การสะกดจิตและการรู้ตัว 

คำ Hypnotic ฮิปโนทิค มาจากคำ ฮิปนอส แปลว่า หลับ นำมาใช้ในความหมายการสะกดจิต เพราะว่ามีวิธีทำให้ผู้ถูก สะกดจิตมีภาวะคล้ายหลับ 

ในปัจจุบันข้อเท็จจริงที่ได้จากการใช้เครื่องวัดคลื่นสมอง (EEG) ทำให้เห็นว่าภาวะถูกสะกดจิต ไม่ใช่การหลับตามปกติ แต่เป็นภาวะตื่น ไม่ปรากฏลักษณะของการหลับตามระดับทั้งสี่ของการหลับเลย แม้การจะตีความหมายว่าขณะถูกสะกดจิต เป็นภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ยุติลง

การชักนำสู่ภาวะสะกดจิต (Hypnotic induction)

เพื่อให้การสะกดจิตได้ผล บุคคลจะต้องเต็มใจและให้ความร่วมมือแก่นักสะกดจิต นักสะกดจิตสร้าง สถานการณ์ชักนำบุคคลเข้าสู่ภาวะสะกดจิต โดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ ที่ทำให้บุคคลรู้สึกผ่อนคลายใช้จินตนาการ และยอมผ่อนการบังคับตนเองให้แก่นักสะกดจิต และยอมรับการบิดเบือนความจริง (reality distortion)

วิธีการที่ใช้กันทั่วไปคือขอให้บุคคลเพ่งสายตาไปที่เป้าหมายเล็กๆ สักอัน เช่น ที่จุดหรือรอยขีดเล็กๆ บนผนัง ใส่ใจอยู่ที่จุดนั้น ดึงความคิดให้หลุดจากสิ่งอื่นๆ ทั้งสิ้น และพยายามผ่อนคลายจนจิตสงบคล้ายหลับ เป็นการสะดวกที่เสนอให้บุคคลรู้สึกเหมือนหลับเพราะเป็นภาวะที่คุ้นเคยอยู่แล้วประการหนึ่งและ เป็นการปลดเปลื้องความพะวงต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ ทั้งสิ้น แต่นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบเพราะจริงๆ แล้วนักสะกดจิตจะต้องบอกบุคคลว่าอย่าหลับไปเลย

บุคคลจะคอยฟังคำสั่งจากนักสะกดจิตและจะรู้สึกผ่อนคลายและง่ายดายที่จะรู้สึกหรือทำตาม หรือแม้แต่เกิดประสบการณ์ตามที่นักสะกดจิตเชื้อเชิญ

ในรูปแบบปัจจุบันการสะกดจิตไม่มีการใช้อำนาจจิตบังคับแต่อย่างใดทั้งสิ้น ถ้าหากได้มีการแนะนำและฝึกหัด แล้ว บุคคลจะสะกดจิตตัวเองก็ได้ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็ว่าบุคคลเข้าสู่ภาวะสะกดจิต เมื่อสถานการณ์ถูกต้อง พร้อมสรรพ นักสะกดจิตเป็นผู้สร้างสถานการณ์ได้ ระยะสับเปลี่ยนจากภาวะตื่นเข้าสู่ภาวะสะกดจิตไม่ช้านัก ถ้าฝึกฝนบ่อยๆ เวลาก็ยิ่งสั้นเข้า ด้วยวิธีการอันแยบยลเช่นได้มีโอกาสสังเกตคนอื่นถูกสะกดจิตบุคคล จะสามารถเข้าสู่ภาวะสะกดจิตได้ อย่างดิ่งและดื่มด่ำ

ลักษณะต่างๆ ของภาวะสะกดจิต (Characteristics of the hypnotic state)

ภาวะถูกสะกดจิตและการเข้าสู่ภวังค์ (trance) ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เหมือนกับที่บรรยายไว้ในศตวรรษที่ 19 อันเป็นสมัยที่ การสะกดจิตเฟื่องฟู ประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้ คือ

1. ความคิดนึกที่จะวางแผนงานลดลง ผู้ถูกสะกดจิตอย่างลึกแล้วจะไม่สนใจคิดนึกสิ่งใดโดยตนเอง จะคอยให้นักสะกด จิตบอกว่า ตนควรจะทำอะไรบ้าง

2. ความสนใจแน่วที่จุดเดียว เมื่อนักสะกดจิตสั่งให้บุคคลฟังแต่เสียงของเขาคนเดียว บุคคลจะไม่สนใจต่อเสียงอื่นใดทั้งสิ้น นอก จากเสียงของเขาคนเดียว

3. การสัมผัสกับความจริงลดลง บุคคลยอมรับสิ่งบิดเบือน ปกติบุคคลจะหมั่นตรวจว่า วัตถุที่ตนเห็นที่ตนจับเป็นของจริงวางอยู่ที่นั่นที่นี่ในตอนนั้น และไม่ยอมถูกหลอก แต่ในภาวะถูกสะกดจิต บุคคลจะยอมรับภาวะประสานหลอน เช่น ยกมือลูบไล้กระต่ายบนตักทั้งที่ไม่มีกระต่าย กล่าวคือยอมทำตามคำสั่งของนักสะกดจิต ยอมทำในสิ่งที่ตามปกติแล้วเขาจะไม่ยอมทำเลย

4. การยินยอมทำตามที่นักสะกดจิตชี้นำมีมากขึ้น

5. ผู้ถูกสะกดจิตยอมรับบทบาทพิเศษต่างๆ เมื่อนักสะกดจิตสั่งให้รับบทบาทของใครคนหนึ่ง เช่นผู้ถูกสะกดจิตแสดงบทบาท ของตนเองเมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ เชื่อกันว่าคนทุกคนย่อมมีวิสัยผู้แสดงอยู่ในตัว ฉะนั้นถ้านักสะกดจิตอำนวยสถานการณ์ผ่อนคลาย ให้เกิดขึ้น ความรู้สึกหักห้ามของผู้ถูกสะกดจิตจะคลายลงจนหมด ทำให้การแสดงบทบาทราบรื่นได้ผลดี ซาร์บิน (1956) มีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า คนเราทุกคนมีความสามารถที่จะแสดง เขาจึงตั้งเป็นหลักไว้เลยว่า การสะกดจิตควรบรรจุการแสดง บทบาทไว้ด้วย (Sarbin 1965)

6. ผู้ถูกสะกดจิตลืมเหตุการณ์ระหว่างสะกดจิต ผู้ถูกสะกดจิตที่มีความคล้อยตามมากๆ บางรายลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง สะกดจิต เมื่อเขาถูกปลุกออกจากภาวะนั้น เขาลืมว่าเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง จะกว่านักสะกดจิตจะให้สัญญาณสักอย่างตามที่ กำหนดไว้ล่วงหน้า ผู้นั้นจะรื้อฟื้นเหตุการณ์ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของนักสะกดจิต กล่าวคือ ผู้ถูกสะกดจะลืมเหตุการณ์ได้ทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกิดขึ้นระหว่างสะกดจิต เมื่อได้รับสัญญาณอนุญาตจึงได้ความจำกลับคืนมา ตัวอย่างพฤติกรรมที่นักสะกดจิตสั่งให้ นักศึกษาจำนวนหนึ่งปฎิบัติที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสหรัฐอเมริกา เช่น ให้ยืนเอน ให้ยกแขน ข้างหนึ่งค้างไว้เป็นต้น ปริมาณการลืม ว่าตนทำอะไรลงไปบ้าง ไม่เหมือนกันทุกคน บางคนลืมเหตุการณ์ทั้งหมด บางคนลืมบางส่วน แต่การลืมบังเกิดขึ้นจริงจังถือว่าเป็น ปรากฎการณ์

ใครบ้างถูกสะกดจิตได้

เป็นที่ยอมรับว่า บางคนถูกสะกดจิตได้เร็วกว่าบางคน และมีบางคนไม่ยอมรับการสะกดเลย ถึงแม้นักสะกดจิตจะสร้าง สถานการณ์หว่านล้อม และคล้อยตามเพียงใดก็ดีมีรายงานของ Vogt เมื่อศตวรรษที่ 19 แสดงไว้ว่าบุคคลคนหนึ่งอาสา รับทดลองสะกดจิตบุคคลนั้นถูกสะกดจิตได้สำเร็จในครั้งที่หกร้อยในสถานการณ์ ตามปรกติที่ปฏิบัติกันถือว่าครั้งเดียว ก็พอแล้วที่จะแสดงว่า บุคคลผู้หนึ่งสามารถรับการสะกดจิตได้หรือไม่

นักสะกดจิตได้กำหนดบทตรวจสอบไว้ว่า ถ้าบุคคลผ่านท่าทางดังนี้ๆ จึงจะถือว่าสามารถรับการสะกดจิตได้ บทตรวจสอบ อันหนึ่งมีท่าทางต่างๆ 12 อย่าง เรียกว่าบททดสอบความสามารถรับสะกดจิตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีตัวอย่างเช่น ยืนแล้วล้มลง หลับตา ยกมือลง ยกมือค้างไว้ ประสานนิ้ว เป็นต้น

ฮิลการ์ด รายงานไว้ว่า บุคคลที่ยอมรับการสะกดจิตได้ดีคือบุคคลที่ชอบทดลองประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นผู้สนในเรื่องจิต มิใช่ว่าจะต้องมีบุคลิกภาพอ่อนหรือชอบพึ่งพา จะเห็นได้จากคนไข้โรคประสาท บางคนไม่ยอมรับการสะกดจิตเลย บุคคลที่รับ การสะกดจิตง่ายได้แก่ ลูกของพ่อแม่ที่ดื่มด่ำในรสจินตนาการ เช่น บุคคลชอบอ่าน ชอบศาสนา ชอบดนตรี ชอบธรรมชาติ ประสบการณ์วัยเด็กที่อำนวยต่อการสะกดจิตเกี่ยวกับการถูกลงโทษ ทั้งนี้อธิบายได้เป็นสองนัยคือ นัยที่หนึ่งเป็นการปลูกฝังนิสัย ยอมอ่อนน้อมโดยไม่ปริปากอย่างอัตโนมัติ และนัยที่สองเป็นการหนีจากการทรมานเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ การปลดตัวจาก สิ่งหนึ่ง (dissociation) เป็นประสบการณ์ที่ใช้มากในการรับสะกดจิต

ประสบการณ์วัยเด็กที่เอื้อต่อการรับสะกดจิตดังกล่าวแล้ว ได้รับการยืนยันจากนักศึกษาที่เล่าถึงประสบการณ์ของตนเอง ส่วนประเด็นที่ว่าลูกของพ่อแม่ที่มีนิสัยโน้มน้าวไปทางศาสนา หรือดนตรี จะสามารถรับสะกดจิตได้ดีนั้นยังมิได้มีการศึกษา ที่ยืนยันเพียงพอ อย่างไรก็ตามเป็นที่ยืนยันกันว่าเด็กรับการสะกดจิตได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

ความสำคัญของการศึกษา ค้นคว้าเรื่องสะกดจิต

เรื่องสะกดจิตเป็นเรื่องที่เคยเฟื่องฟู้อยู่ระยะหนึ่ง ฟรอยด์เองก็เคยศึกษาและนำมาใช้กับคนไข้ ต่อมาภายหลังจึงเลิกไปและ หันมาศึกษาจิตวิเคราะห์ และเกิดความรู้จนสามารถสร้างเป็นทฤษฎีขึ้น อย่างไรก็ดีนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งรื้อฟื้นการสะกดจิต ขึ้นศึกษาเพราะเห็นประโยชน์ที่จะนำมาใช้ในการรักษาพยาบาล เช่น การทำฟัน การคลอดลูก ประโยชน์ที่ได้คือ

1. บรรเทาความตึงเครียดของอารมณ์และผ่อนคลายความวิตกกังวล

2. บรรเทาความเจ็บปวดโดยนักสะกดจิตเสนอว่า ไม่รู้สึก หรือ ไม่เจ็บ

นอกจากนี้แล้วจิตเวช (psychotherapy) นำการสะกดจิตไปใช้ประโยชน์ได้ ดังจะอธิบายไว้ในบทที่ 21 นักจิตวิทยาหวังว่าด้วย การศึกษาเรื่องสะกดจิตในทำนองวิทยาศาสตร์ คงจะทำให้เรื่องสะกดจิตมิใช่เป็นแค่เรื่องทำเล่นสนุกๆ หรือเป็นศาสตร์เถื่อนดังที่ เคยเป็นมาแล้ว

สมาธิ และการเปลี่ยนระดับสำนึกโดยตนเอง

เพราะว่ามนุษย์สามารถคิดได้ และฝันได้ (think and dream) มนุษย์จึงสามารถล่วงพ้น (transcend) ชีวิตประจำวัน และก้าวขึ้นสู่ความสำนึกอีกระดับหนึ่ง ทำให้สามารถละจากสำนึกเรื่องจุกจิกประจำวันและเข้าสู่สำนึกระดับที่สามารถ ใคร่ครวญคิดค้น (contemplate) โดยการดึงเอาทัศนะ (visions) มาได้จากทั่วทิศ ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้วมีบุคคลที่ถอนตัวเอง ออกไปจากสังคมมุ่งสู่ป่าและยอดเขา อดอาหาร ฝึกตนเองด้วยบทวิธีต่างๆ หรือหาประสบการณ์แบบสงบรำงับเป็นการขยาย สำนึกออกสู่สิ่งใหม่อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง การแสวงหาเยี่ยงนี้มักจะเป็นในลักษณะของศาสนาคือค้นหาความจริงแท้ที่ห้อมล้อม ตัวเราอยู่ แต่เป็นสิ่งที่เราไม่อาจสัมผัสได้เพราะเรามิได้ฝึกฝน

ปัจจุบันชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยเกิดความไม่พึงพอใจต่อสิ่งที่เขาเห็นว่าทำให้ชีวิตเสื่อมโทรม (corruption of life) ด้วยการหลงใหลกับวัตถุที่ผลิตออกมาอย่างล้นเหลือด้วยการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ลดละ พากันหันมาสนใจกับวิธีการฝึกสำนึกเพื่อเป็นหนทางไปสู่การแสวงหาคุณค่าอันเป็นสัจจะ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวมการ์ตูนมังฮวาแนวบู๊ที่อ่าน

เกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) - ปลูกผักในคอนโด (8)