Brave New World โลกที่เราเชื่อ : ผู้หญิงเป็นได้แค่เบต้า


ชื่อ Brave New World โลกที่เราเชื่อ
ผู้เขียน Aldous Leonard Huxley
ผู้แปล กมล ญาณกวี
แนวเรื่อง Dystopia
สำนักพิมพ์ Freeform ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2561
ราคาปก 295 บาท

เรื่องย่อ -
เล่าถึงโลกในอนาคตจากจินตนาการของผู้เขียน โดยให้ตัวละครเบอร์นาร์ดที่อยู่โลกอารยะไปนำ “จอห์น” ชายหนุ่มที่เกิดจากชาวอารยะที่พลัดหลงต้องไปอยู่โลกคนเถื่อน จอห์นเมื่อมาที่โลกอารยะก็ต้องมาเรียนรู้ปรับตัวและค้นหาโลกที่ตัวเองปรารถนาจะดำรงชีวิตอยู่ต่อว่าจริงแล้วคือที่ใด

ความคิดส่วนตัว -
บทวิเคราะห์เรื่องนี้มีเยอะแยะแล้วใครสนใจไปค้นอ่านเองเพราะฉันเน้นระบายอารมณ์หลังอ่านมากกว่าจะนำเสนอสาระจริงๆ จังๆ

การอ่านแนวนี้เริ่มจากกระเบนอยากอ่าน Animal Farm ของ George Orwell ไปซื้อมาเลยได้อ่านไปด้วย (แต่ตอนนี้ขายต่อไปแล้ว) และกระเบนอยากอ่าน 1984 ของ George Orwell อีกแต่มันหนาเธอเลยไม่อ่านให้ฉันอ่านแทน แล้วเธอก็บอกว่า อ่าน 1984 แล้วต้องอ่าน Brave New World คู่กันด้วย อ่านแล้วมาเล่าให้ฟังด้วยนะ ...

แล้วฉันก็ดันไปหาซื้อมาอ่านจนจบได้อีก

คุณกระเบนขา คุณทำให้ฉันต้องไปหาหนังสือแนวยูโทเปีย ดิสโทเปียมากองดองสูงเลยละกัน

ว่าแล้วจด list จาก The Matter อีกหลายรายการที่ยังไม่ได้อ่านหรือซื้อไว้ก่อน
จาก https://thematter.co/pulse/is-there-still-hope-in-distopian-novels/23095
- The Handmaid’s Tale (1985) / Margaret Atwood เล่มนี้เหมือนจะอยู่บนชั้น
- Nineteen Eighty-Four (1949) / George Orwell ดันอ่านออกเสียงหันกลับมา 1984 นี่หว่า อ่านจบไปแล้ว เอาออกๆ
- Brave New World (1932) / Aldous Huxley อ้าวนี่ก็เล่มที่กำลังจะเมาท์
-Uglies (2005) / Scott Westerfeld อันนี้ไม่มี
- Neuromancer (1984) / William Gibson อันนี้ยังไม่มี
-The Hunger Game (2008) / Suzanne Collins อันนี้ได้มาตั้งแต่ตอนเป็นหนังยังไม่ได้อ่านเลย
- Farenheit 451 (1953) / Ray Bradbury อันนี้เหมือนจะยังไม่มี

ดูแววว่าช่วงนี้คงได้อ่านแต่แนวนี้แน่ๆ

เริ่มจากคำนำ Aldous Leonard Huxley บอกว่าได้อ่าน Men like Gods ของ H.G. Wells ซึ่งเป็นแนว Utopia จึงทำให้เกิดเรื่อง Brave New World ขึ้นมา แต่มีคนวิจารณ์ว่า Brave New World ลอก WE ของ Yevgeny Zamyatin (ซึ่งไม่รู้ว่าจริงไม่จริงแต่ก็ซื้อมาแล้วเดี๋ยวคงได้อ่าน)

เนื้อเรื่องหลักจริงๆ ของเรื่องนี้อยู่ที่ตัวละครชื่อ "จอห์น" หรือถูกเรียกว่ามิสเตอร์แซฟเวจ กับตัวละครชื่อ "มุสตาฟา มอนด์" เพราะการปูเรื่องทั้งหมดมีเพื่อนำไปสู่บทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวนี้ในตอนท้ายเรื่องในบทที่ชื่อเดียวกับหนังสือคือ บท Brave New World

ตัวละคร "เบอร์นาร์ด มาร์กซ์" ตอนนึกว่าจะเป็นตัวเอกของเรื่องแต่จริงๆ แล้วคือลูสเซอร์ชัดๆ เปิดเรื่องมาเหมือนจะเป็นแนวพระเอกผู้โดดเดี่ยวออกค้นหาความหมายชีวิตและทำตัวแปลกแยกเพื่ออุดมการณ์แต่กลับกลายเป็นตัวละครที่จริงๆ กระหายอยากได้รับการยอมรับในสังคมชั้นนำ ก็สมจริงดีในแง่มนุษย์ก็แบบนี้พอได้ชื่อเสียง อำนาจ ก็จะลืมตัว ลืมตัวเองในตอนที่ไม่มีไม่เคยได้และกดหัวผู้อื่นทันทีเมื่อตัวเองขึ้นสูง

ตัวละคร "เฮล์มโฮลทซ์ วัตสัน" ผู้เหมือนจะเข้าใจแต่สุดท้ายก็ไม่เข้าใจ ตอนแรกดูสูงๆ แบบชนชั้นนำแต่กลับมีสิ่งที่ค้นหา เคลือบแคลงต่อต้านระบบและกล้ายอมรับความหายนะจากความคิดที่ปรารถนาอิสระของตนเอง ความคิดตัวเองเฮล์มโฮลทซ์จึงโคตรเท่มีกี่คนที่มีทุกอย่างครบถ้วนแต่กล้าละทิ้ง (ซึ่งความเป็นจริงจะมีกี่คนที่ทิ้งได้ตลอด ทิ้งได้จริงๆ ตอนนี้ยอมรับแค่ว่ากล้าทิ้งก่อนละกันหลังจากนี้จะตะเกียกตะกายกลับมาจุดสูงส่งอีกหรือเปล่าก็ไม่พูดถึง)

ตัวละคร "มุสตาฟา มอนด์" เป็นผู้ควบคุมโลก อดีตเคยเป็นคนที่คิดต้านแต่แล้วก็เปลี่ยนเป็นยอมรับระบบ ตัวละครตัวนี้คือแนวคิดทั้งหมดของระบบและแสดงออกมาตอนโต้เถียงกับจอห์น พออ่านไปแล้วจะพบกว่าเป็นแนวคิดลิเบอร์รัล

เพราะมันคร่ำครึ นั่นคือเหตุผลหลัก ที่นี่เราไม่ใช่ประโยชน์จากสิ่งเก่าๆ
เมื่อความสวยงามนั้นชวนให้หลงใหล เราไม่ต้องการให้ประชาชนหลงใหลกับสิ่งเก่าๆ

โลกมีเสถียรภาพดีแล้ว ประชาชนมีความสมบูรณ์พูนสุข พวกเขาได้ในสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถไขว่คว้าได้ พวกเขามั่งคั่งร่ำรวย ปลอดภัย ไม่เจ็บป่วย ไม่หวาดกลัวความตาย แก่ชรา ไม่ต้องใส่ใจรับรู้เรื่องอารมณ์ ความรัก ความรู้สึก การห่วงพะวงหา แม้แต่สังคมบรรพกาลที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในครอบครัวก็ยังไม่มั่นคงเท่าสังคมของเรา

อย่าไปคาดหวังอิสรภาพจากพวกที่ไม่เคยเห็นคุณค่า
อย่าคิดแลกศิลปะชั้นสูงกับเสถียรภาพ

เอ็พสิลอนผู้เสียสละ ผู้ต่อต้านขัดขวางน้อยที่สุด มีแนวทางที่เขาจะต้องวิ่งไป ไม่มีทางช่วยตัวเองได้

ความสุขแท้จริงมักจะดูสกปรกโสมมเสมอ เมื่อเปรียบเทียบกับการจ่ายชดเชยให้แก่ความทุกข์ยากจนมากเกินไป

ความเสถียรภาพย่อมไม่สนุกเร้าใจเท่ากับความไร้เสถียรภาพ ความพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ย่อมไม่ชวนดึงดูดใจเท่ากับการต่อสู้กับความโชคร้าย

ไม่มีภาพสวยงามอะไรในการต่อสู้พร้อมด้วยสิ่งล่อใจ หรือการล้มล้างอันเลวร้ายด้วยอารมณ์ความรู้สึกหรือความสงสัย ความสุขไม่ยิ่งใหญ่สวยหรูหรอก

อัลฟาไม่อาจตกลงสู่ความไร้เสถียรภาพและความทุกข์เดือดร้อนได้
เมื่อเอาอัลฟาไปอยู่รวมกัน ไม่มีการใช้ที่ดินเพาะปลูก มีแต่การประท้วง การบังคับใช้กฎหมาย ไร้ผลกฎถูกละเมิด พวกทำงานชั้นต่ำมักจะสมคบคิดกันวางแผนแย่งงานชั้นสูงและชั้นสูงก็ต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อรักษาตำแหน่ง ก่อสงครามการเมืองและการล้มตาย

การจัดวางประชากรที่เหมาะสมเหมือนภูเขาน้ำแข็ง 8/9 อยู่ใต้น้ำ 1/9 อยู่เหนือน้ำ พวกอยู่ใต้น้ำมีความสุขมากกว่าอยู่ข้างบนอีก งานเบาสบายไม่เคร่งเครียดทั้งจิตใจและกล้ามเนื้อ ใช้แรงงานอย่างนุ่มนวล ปราศจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า 7.5 ชม. ต่อวัน เสร็จแล้วรับแจกโซม่า เล่นเกมกีฬา กามสังวาส เที่ยวสถานเริงรมย์ เราลดเวลาทำงานได้แต่ไม่ทำเพราะลดเวลาทำงานผู้คนกลับเกิดการกระวนกระวายบริโภคโซม่าเพิ่ม ลดแรงงานผลิตเกษตรกรรมได้แต่ไม่ทำเพราะการไม่มีงานยิ่งทำให้เสถียรภาพเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

วิทยาศาสตร์เป็นแค่ตำราอาหาร ต้องทำตามสูตรไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนสูตรนอกจากกรณีพิเศษ วิทยาศาสตร์เป็นภัยคุกคาม เป็นอันตรายต่อสาธารณชนเท่าๆ กับที่เป็นประโยชน์

ความสุขจะยิ่งเป็นนายที่โหดร้ายมากกว่าความเป็นจริงหากใครก็ตามไม่ได้ถูกปรับความคุมสภาพให้ยอมรับมันได้โดยไม่ตั้งข้อสงสัย

หน้าที่ย่อมเป็นหน้าที่ คนเราไม่อาจทำตามใจในสิ่งที่ตัวเองชอบได้
ความรู้คือความดีสูงสุด
ความจริงคือคุณค่าสูงสุด
ที่เหลือทั้งหมดเป็นสิ่งรองลงมาและสำคัญน้อยกว่า

ความฝันสะท้อนสิ่งที่ปกปิดในใจผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ สัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรมก็ถูกแสดงเป็นรูปธรรม เช่น พ่อ คนรัก สถานการณ์ การดึงบุคคลไม่เกี่ยวข้องให้เกี่ยวข้อง การดึงเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดให้เกิด การเปลือยเปล่า การเคลือบแคลงการใช้อำนาจ การอยู่ใต้อำนาจ การเรียกร้องหาความจริง สำนึกผิด การทบทวน การโยนบาป และอีกมากมายซึ่งต้องทบทวนวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับชีวิตจริงๆ

อ่านมาทั้งหมดชอบที่สุดคือความคิดนี้

ฉันกินอารยธรรมเข้าไป มันแปดเปื้อน โสโครก เป็นพิษต่อฉัน ฉันเลยกินความชั่วร้ายของตัวเองเข้าไป

เป็นเรื่องดิสโทเปียที่น่าสนใจ ส่วนตัวชอบมากกว่า 1984 แต่อย่างหนึ่งที่สังเกตแล้วไม่เห็นใครวิเคราะห์ประเด็นนี้ออกมา ทำไมอัลฟามีแต่ผู้ชาย และผู้หญิงต้องเป็นเบต้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวมการ์ตูนมังฮวาแนวบู๊ที่อ่าน

เกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) - ปลูกผักในคอนโด (8)