โสเภณีถูกกฎหมาย (6) ประกันสังคมและกฎหมายแรงงาน

 ขายตัวถูกกฎหมายใครๆ ก็เป็นโสเภณีได้ง่ายจัง (6)

ข้อโต้แย้งประเด็น “เมื่อถูกกฎหมายโสเภณีจะได้รับสวัสดิการ เข้าถึงประกันสังคมและมีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง”

เหตุผลของผู้สนับสนุน - โสเภณีจะได้สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ เช่น ประกันสังคมได้เหมือนคนอาชีพอื่น, มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองไม่ถูกนายจ้างกดขี่เอาเปรียบ

ภาพจากเฟซบุ๊กและเว็บประกันสังคม

 

ความจริงไม่จำเป็นต้องรอให้การค้าประเวณีถูกกฎหมายโสเภณีก็มีประกันสังคมได้เช่นเดียวกับอาชีพรับจ้างหรือฟรีแลนซ์ ด้วยการกรอกเอกสารว่าเป็นอาชีพบริการ ลูกจ้างรายวัน หรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียง (แต่หากมีคนยืนยันว่า "ไม่ได้! ฉันภูมิใจในความเป็นโสเภณี ฉันต้องการกรอกว่าฉันเป็นโสเภณีเท่านั้น" นั่นก็อีกเรื่อง) เพียงแต่จะโสเภณีจะยอมอดทนและยอมเหนื่อยเหมือนอาชีพอื่นเพื่อทำให้ครบเงื่อนไขหรือไม่

ผู้เขียนขอให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบประกันสังคมในประเทศไทยก่อนเผื่อผู้อ่านบางท่านที่ยังไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับประกันสังคมจะได้เข้าใจ

ในประเทศไทยมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมอยู่ 3 แบบ คือ ในมาตรา 33, มาตรา39 และ มาตรา 40



ภาพจากเฟซบุ๊กและเว็บประกันสังคม


มาตรา 40

- เป็นมาตราที่ออกแบบสำหรับแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ฟรีแลนซ์ วินมอเตอร์ไซด์ อาชีพอิสระอื่นๆ

- การจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนมี 3 ทางเลือก คือ 70, 100, 300 บาทต่อเดือน

- สิทธิประโยชน์ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เลือกที่จ่าย แบบสูงสุดจะได้เงินทดแทนรายได้, ทุพพลภาพ, สงเคราะห์บุตร, ชรา, ตาย

- เงื่อนไขการสมัครคือต้อง มีสัญชาติไทย (หรือผู้ที่ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว) , อายุ 15-65 ปี, ไม่อยู่ในประกันสังคมมาตราอื่น, ไม่มีกองทุนของราชการหรือรัฐวิสาหกิจ, ไม่ใช่ผู้พิการ

- หากต้องการรับการรักษาพยาบาลต้องไปใช้สิทธิ์บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค (ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า)

- หากต้องการเน้นการออมเงินเพื่อเกษียณอายุอย่างเดียวไม่ได้ต้องการสิทธิ์อื่นๆ ผู้เขียนแนะนำกองทุน กอช. (กองทุนการออมแห่งชาติ) เพราะรัฐสนับสนุนด้านการออมเงินเพื่อการเกษียณมากกว่าการออมกับประกันสังคม

ผู้ขายตัวเป็นอาชีพหลักสามารถสมัครมาตรา 40 ได้เลยโดยไม่มีเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งการรักษาพยาบาลต้องใช้สิทธิ์ของบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค (ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าสิทธิ์ของบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคครอบคลุมการรักษาดีกว่าสิทธิ์ของประกันสังคมอีก แต่ข้อเสียของบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคคือสถานพยาบาลใกล้บ้านมีน้อยและคนใช้บริการมีจำนวนมาก)



ภาพจากเฟซบุ๊กและเว็บประกันสังคม

 

มาตรา 39

- เป็นมาตราที่ออกแบบสำหรับผู้ที่เคยทำงานในระบบเอกชนมาก่อนและลาออกซึ่งต้องการส่งเงินสมทบผู้ประกันตนต่อเอง

- การจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตน คือ 432 บาทต่อเดือน

- สิทธิประโยชน์จะได้ การรักษาพยาบาล, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, สงเคราะห์บุตร, ชรา, ตาย

- เงื่อนไขการสมัคร คือ ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อนอย่างน้อย 12 เดือน

- หากต้องการรับการรักษาพยาบาล ผู้ประกันตนมาตรา 39 มีสิทธิ์เข้ารับการรักษาตามสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม

- ไม่มีเงินชดเชยการว่างงาน

ผู้ขายตัวที่อยากได้สิทธิ์การรักษาพยาบาลของประกันสังคมมาตรา 39 นี้ จะต้องเหนื่อยขึ้นอีกนิดคือ คุณต้องอดทนอยู่ในระบบแรงงานเอกชนอย่างน้อย 12 เดือน ซึ่งผู้ขายตัวแบบสมัครใจที่เป็นไซด์ไลน์ส่วนใหญ่ก็มีความรู้ความสามารถมากพอจะเข้าไปทำงานในระบบได้อยู่แล้วเพียงแต่คุณจะยอมเข้าระบบเพื่อทำประกันสังคมหรือไม่เท่านั้น

แต่สำหรับโสเภณีที่ไม่ได้เต็มใจมาขายตัวคงเข้าเงื่อนไขของมาตรานี้ยาก เพราะแต่เดิมโสเภณีกลุ่มหลังนี้ไม่เคยมีทางเลือกในชีวิตและส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประกันสังคมคืออะไร บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคคืออะไร และจะหวังให้แมงดาหรือซ่องช่วยเป็นธุระพาไปทำประกันสังคมก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่



ภาพจากเฟซบุ๊กและเว็บประกันสังคม


มาตรา 33

- เป็นมาตราสำหรับผู้ที่ทำงานในระบบเอกชน

- การจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตน คือ 750 บาทต่อเดือน บริษัทสมทบอีก 750 บาทต่อเดือน (คิดจากอัตราสูงสุดของฐานเงินเดือน 15,000 บาท หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจำนวนเงินสมทบจะมีการเปลี่ยนแปลง)

- สิทธิประโยชน์ที่ได้ คือ ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน, การรักษาพยาบาล, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, สงเคราะห์บุตร, ชรา, ตาย

- เงื่อนไขการสมัครคือต้องเป็นผู้ที่ทำงานในระบบเอกชน

ผู้ขายตัวที่จะอยู่ในมาตรา 33 นี้ได้ คือ ผู้ที่มีงานประจำและมีสิทธิ์ประกันสังคมตามระบบบริษัทที่ตนสังกัดอยู่แล้ว

แต่หากคุณไม่ชื่นชมงานบริษัทเอกชนที่คุณทำประจำอยู่แล้วอยากลาออกจากงานประจำเพื่อมาค้ากามเต็มตัว คุณก็แค่อดทนทำงานประจำอยู่ที่เก่าให้ได้อย่างน้อย 1 ปีแล้วลาออกมาส่งเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 ต่อ เท่านี้คุณก็จะได้สิทธิ์ประกันสังคมเกือบเท่าเดิม (ยกเว้น ค่าชดเชยการว่างงาน)

จากข้อมูลประกันสังคมในประเทศไทยที่ผู้เขียนสรุปมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้การค้ากามจะยังไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทยแต่โสเภณีก็ยังสามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมมาตรา 40 และ 39 ได้เหมือนอาชีพอิสระอื่นๆ ขนาดแม่ค้าแผงลอย กรรมกร มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ไม่รู้หนังสือยังสามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้ ถ้าผู้ขายตัวอยากจะทำประกันสังคมกันจริงๆ ทำไมผู้อยากขายตัวจะเข้าถึงประกันสังคมในระบบเดียวกันไม่ได้

จึงเข้าใจได้ว่าสิทธิ์ของประกันสังคมที่ผู้อยากขายตัวเรียกร้องอยากได้มาโดยตลอดคือสิทธิ์ของประกันสังคมมาตรา 33 ที่ได้รับสิทธิมากกว่าอีก 2 มาตรา

หากการที่ผู้ขายตัวออกมาเรียกร้องให้มีโสเภณีถูกกฎหมายก็เพื่อให้ผู้ขายตัวมีสิทธิ์ของประกันสังคมมาตรา 33 โดยไม่ต้องทำงานประจำ นั่นคือ ผู้ที่เรียกร้องอยากขายตัวเหล่านั้นต้องการได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าอาชีพอื่นๆ และ มีอภิสิทธิ์เหนือผู้ประกันตนทุกมาตรา (มาตรา 33, 39, 40) ซึ่งเป็นการเอาเปรียบและดูหมิ่นเกียรติของแรงงานอาชีพอื่นๆ ที่ต้องทนอยู่ในระบบเพื่อให้ได้รับสิทธิ์เหล่านี้



ภาพจาก https://www.mol.go.th

 

เงื่อนไขสำคัญของการจะได้รับสิทธิ์ประกันสังคมตามมาตรา 33 คือจะต้องทำงานในองค์กรเอกชนที่ถูกกฎหมายเท่านั้น นั่นคือหากโสเภณีคนใดต้องการสิทธิ์ตามมาตรา 33 โสเภณีคนนั้นจะต้องบรรจุเข้าทำงานใน "ซ่อง" หรือ "สถานบริการทางเพศ" ที่ถูกกฎหมายก่อน

ซึ่งระเบียบการทำงานในองค์กรเอกชนที่จะเข้าเงื่อนไขได้สิทธิตามมาตรา 33 คือ ต้องเข้างานตามเวลาที่กำหนด, มีวันทำงานและวันหยุดตามกฎหมายแรงงาน, งานที่นายจ้างสั่งต้องทำตามนั้น หากไม่ทำหรือทำไม่ได้ก็โดนหักเงินเดือนหรือไล่ออก

ผู้ทำงานในบริษัทเอกชนไม่สามารถเลือกเวลาทำงานตามใจตัวเองได้, เลือกงานหรือปฏิเสธงานที่เจ้านายมอบให้ไม่ได้,ทำงานเกินเวลาโดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเรื่องปกติ, ถูกตามตัวให้มาทำงานนอกเวลางานหรือวันหยุดเป็นเรื่องปกติ, ต้องพบกับการโดนเอาเปรียบจากนายจ้างและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแต่ก็ต้องอดทนหากไม่อยากตกงาน เหล่านี้คือรสชาติชีวิตมนุษย์เงินเดือนมาตรา 33

หากจะเรียกร้องให้การค้ากามและโสเภณีถูกกฎหมายแล้วซ่องหรืออาบอบนวดมีรูปแบบเป็นองค์กรเอกชน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโสเภณีผู้เป็นลูกจ้างในระบบ

- เมื่ออยู่ในองค์กรคุณจะมีนายจ้างและนายจ้างจะเป็นคนเลือกลูกค้าให้คุณ คุณไม่มีสิทธิ์เลือกแขกอย่างอิสระหรือมีสิทธิ์ปฏิเสธลูกค้าที่นายจ้างจัดมา

- คุณไม่มีสิทธิ์เลือกเวลาทำงานได้อย่างอิสระ ต้องทำงานตามวันที่บริษัทกำหนดและมีวันหยุดตามกฎหมายแรงงาน

- วันไหนคุณลาหยุดคุณอาจไม่ได้เงินค่าจ้าง บางบริษัทนับวันลาของคุณเพื่อหักเงินชดเชยวันที่คุณหยุด

- คุณจะเจอค่าภาษีสังคมจากบริษัทที่สารพัดจะอ้างขึ้นมาเพื่อหักค่าแรงคุณ เช่น ค่าชุดเครื่องแบบพนักงาน, ค่าเงินประกันความเสียหาย , ค่าของใช้ส่วนตัว (ที่ถูกบังคับซื้อจากบริษัท)

- เมื่อคุณทำงานล่วงเวลาหรือนอกเวลาคุณอาจไม่ได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มเพราะไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะให้ และคุณอาจโดนนายจ้างใช้คุณ “ทำงานล่วงเวลา” ส่วนตัวให้กับนายจ้างหรือคนที่นายจ้างต้องการรับรองโดยที่คุณเรียกร้องอะไรเพิ่มไม่ได้



https://seminardd.com/upload/F5V457WKOTD00W9ZYH6CJGFHX_small.jpg

 

- คุณอาจต้องผิดหวังหากคิดว่ากฎหมายแรงงานจะสามารถบังคับให้นายจ้างปฏิบัติต่อคุณอย่างเป็นธรรม ขนาดพนักงานเอกชนอาชีพอื่นๆ ยังไม่เคยเอาชนะนายจ้างได้ อาชีพโสเภณีจะมีสิทธิ์พิเศษอะไรที่นายจ้างจะต้องเอาใจหรือถนอมความรู้สึกเพื่อให้ภักดีกับองค์กร

ทุกองค์กรต่างต้องการผลกำไรและในเมื่อค่าจ้างคือหนึ่งในต้นทุนเขาก็ต้องใช้คุณทำงานให้เขามากที่สุด หากคุณทำไม่ได้เขาก็เอาคุณออกแล้วหาคนอื่นมาเสียบแทน ยิ่งงานประเภท "ขายตัว" ที่เน้นความสาวความสวยสดซิงมากกว่าฝีมือหรือประสบการณ์ นายจ้างยิ่งยินดีหาสาวสวยหน้าใหม่ที่มีอยู่ดาษดื่นมาเสียบแทนคุณที่เรื่องมากจะเรียกร้องเอานู้นเอานี่ อย่าลืมว่าชีวิตจริงไม่ใช่นิยาย อย่าสำคัญผิดว่าคุณมีจิ๋มทองคำที่ผู้ชายทุกคนจะต้องมาง้อขอมีอะไรกับคุณ ถ้าคุณเล่นตัวมากเขาก็แค่ถีบหัวส่งแล้วไปหาคนอื่น

- อย่าหวังว่านายจ้างจะออกค่ารักษาพยาบาลให้ มีบริษัทเอกชนจำนวนมากให้พนักงานไปใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลของประกันสังคมโดยไม่มีการช่วยอะไรเพิ่มเลย



 

- อย่าหวังว่านายจ้างจะชดเชยหากมีการไล่ออกหรือลาออก นายจ้างพร้อมจะยัดข้อหาการทำงานพลาดหรือข้อหาร้ายแรงอื่นๆ ให้กับคุณเมื่อเขาจะไม่เอาคุณไว้ซึ่งอาจทำให้คุณหมดสิทธิ์ขอเงินชดเชยจากประกันสังคมด้วยซ้ำ เช่น การยัดข้อหายักยอกเงินจากลูกค้าถ้าลูกค้าให้ทิปส่วนตัวกับคุณ

เรื่องการอมค่าทิปดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ปกติใครๆ ก็ทำกันและนายจ้างมักจะทำเป็นไม่เห็นไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเขาจะเอาคุณออกเมื่อไรมันจะถูกยกมาใช้ทันที ซึ่งมันเป็นข้อหาร้ายแรงพอที่ทำให้นายจ้างสามารถไล่คุณออกได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย (แถมประกันสังคมจะไม่ชดเชยเงินว่างงานให้ถ้าคุณโดนไล่ออกข้อหาเกี่ยวกับฉ้อโกงหรือลักทรัพย์บริษัท)

และนายจ้างชั้นเลวบางคนยังสามารถเล่นแง่ไล่คุณออกก่อนจบช่วงทดลองงานได้ด้วยเพื่อที่นายจ้างจะได้ไม่ต้องทำประกันสังคมให้คุณหรือจ่ายค่าชดเชยใดๆ เพียงใช้ข้ออ้างว่าคุณ "ทดลองงานไม่ผ่าน"

ผู้เขียนขอให้ความรู้เพิ่ม ปกติการทำงานทั่วไปขององค์กรเอกชนมักจะมีการทดลองทำงานตั้งแต่ 1 วัน - 3 เดือน ซึ่งจะมีการจ่ายค่าแรงส่วนหนึ่ง,เต็มจำนวนหรือไม่จ่ายเลยขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หากยังอยู่ในช่วงทดลองงานบริษัทจะไม่ขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างประจำและจะไม่ทำประกันสังคมให้ ผู้ทดลองงานจะมีสถานะเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราวจ่ายค่าแรงเป็นรายวันตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งลูกจ้างอาจจะได้รับทุกวัน, สัปดาห์หรือครบเดือนค่อยได้ ขึ้นอยู่กับระบบของบริษัทนั้นๆ

ระยะเวลาทดลองงานส่วนใหญ่อยู่ที่ 3 เดือน หากคุณไม่เด็ดพอก็อาจโดนเขี่ยออกพร้อมกับเงินชดเชยเพียงน้อยนิด

โดยปกติแล้วเด็กนั่งดริ๊งค์ทั่วไปจะอยู่ร้านเดิมนานราวๆ 3-6 เดือนแล้วค่อยย้ายร้านไปอยู่ร้านใหม่เพื่อไปเป็น "เด็กหน้าใหม่" ของที่อื่นต่อหมุนเวียนกันไป โดยมักจะเริ่มจากตัวเมืองกรุงเทพฯ เขตใน, กรุงเทพฯ เขตนอก, จังหวัดข้างเคียง, จังหวัดท่องเที่ยว, จังหวัดหัวเมืองใหญ่, และสุดท้ายจังหวัดชายแดน มีบ้างที่ต้องออกไปทำงานต่างประเทศ

เด็กนั่งดริ๊งค์ที่เด็ดจริงลูกค้าเยอะก็อาจจะอยู่ร้านเดิมได้ถึง 1 ปีแต่ไม่เกินจากนั้นเพราะจะกลายเป็นของเก่าที่ลูกค้าไม่สนใจเรียกมานั่งด้วยแล้ว

ช่วงทดลองงาน 3 เดือนก็คือจังหวะที่นายจ้างบางคนใช้ช่องโหว่เพื่อหาประโยชน์จากผู้ทดลองงานแล้วรีบถีบหัวส่งก่อนครบ 3 เดือนนั่นเอง

เล่ห์เหลี่ยมของนายจ้างมีมากมายกว่าที่คุณคิด ยิ่งในวงการที่ขายผู้หญิงเป็นสินค้าก็อย่าหวังว่าเขาจะเห็นใจ

หากผู้เรียกร้องอยากขายตัวหวังว่าขายตัวเป็นอาชีพแล้วจะได้วางตัวสวยๆ เก๋ๆ รับงานโดยถือคติ "ฉันเลือกแขกได้ ฉันเลือกเวลาทำงานได้ ฉันเป็นนายของตัวเองไม่มีใครมาบังคับฉันได้" แล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์หรูหรากว่าอาชีพอื่นเพียงเพราะคุณเป็นคนขายจิ๋มนั่นคือ คุณกำลังฝัน

ขนาดพนักงานเอกชนอาชีพอื่นๆ กฎหมายแรงงานยังคุ้มครองไม่ทั่วถึงและโดนนายจ้างใช้ช่องโหว่เอาเปรียบอยู่เป็นนิจ คุณคิดหรือว่าเมื่อโสเภณีถูกกฎหมายแล้วอยู่ในระบบการจ้างงานแบบเอกชนกฎหมายแรงงานจะช่วยเหลืออาชีพโสเภณีได้จริง



ภาพข่าวหญิงเยอรมันปฏิเสธงานค้ากามจึงถูกยกเลิกสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน จากเว็บข่าว (ที่ต้องเสียเงินอ่าน) The Telegraph

 

ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงจากประเทศที่การค้ากามถูกกฎหมาย นายจ้างประกาศรับสมัครงานตำแหน่งพนักงานหญิง, สาวเสิร์ฟ, แคชเชียร์หญิง แต่เมื่อได้ลูกจ้างผู้หญิงตามที่ต้องการแล้วก็บังคับให้ลูกจ้างหญิงไปขึ้นทะเบียนเป็น "ผู้ขายบริการทางเพศ" เพื่อมารับแขกของร้าน ถ้าลูกจ้างหญิงไม่ยอมขึ้นทะเบียนหรือไม่ยอมรับแขกก็ข่มขู่, บีบบังคับให้ลูกจ้างลาออกหรือไล่ออกโดยไม่มีค่าชดเชยให้

นี่คือเล่ห์เหลี่ยมส่วนหนึ่งของนายจ้างที่เล่นแง่บีบบังคับให้หญิงที่ไม่อยากขายตัวต้องมาขาย และต่อให้เป็นหญิงที่เต็มใจขายตัวเมื่ออยู่ในซ่องแล้วนายจ้างก็พร้อมหาวิธีเอาเปรียบได้อีกสารพัดจนคุณคิดไม่ถึง

ปัจจุบัน ลูกจ้างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานน้อยมาก ขนาดคนที่จบปริญญาตรีหลายต่อหลายคนยังไม่รู้เรื่องพื้นฐานที่แรงงานต้องรู้เลยหรือต่อให้รู้ลูกจ้างจำนวนมากก็ยังต้องจำยอมให้นายจ้างกดขี่ด้วยเหตุผลต่างๆ ฉะนั้นการฝันอย่างโลกสวยว่า "ถ้าค้ากามถูกกฎหมายแล้ว ผู้หญิง, แรงงานหญิง จนถึงโสเภณีถูกกฎหมายจะรู้ถึงสิทธิ์ของตัวเองแล้วพร้อมใจกันออกมาฟ้องร้องนายจ้างเมื่อโดนกดขี่" นั้นยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในโลกของความเป็นจริง

หรือต่อให้มีคนกล้ารวมตัวกันไปยื่นเรื่องร้องทุกข์กับกระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็คงยากที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังหรือได้รับความเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาขนาดลูกจ้างอาชีพอื่นๆ ที่มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานก็ยังมีน้อยมากที่จะสู้คดีชนะนายจ้าง อย่าลืมว่านายจ้างกระเป๋าเงินใหญ่กว่าลูกจ้างเสมอ เขาสามารถหาทนายเก่งๆ มาสู้กับลูกจ้างได้สบายหรือจะยื้อคดีเป็นปีเขาก็ไม่เดือดร้อน ลูกจ้างเหล่านั้นต่างหากที่จะต้องเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาไปกับการสู้คดีจนในที่สุดแพ้ภัยตัวเองไม่ยอมสู้ต่อเกือบทั้งนั้น

ลูกจ้างส่วนใหญ่จึงยังต้องยอมก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปแม้ว่าจะถูกกดขี่เพราะไม่อยากมีปัญหาและไม่อยากตกงาน

ฉะนั้นต่อให้การค้ากามหรือซ่องเป็นองค์กรการค้าถูกกฎหมายก็ไม่มีทางเปลี่ยนให้สภาพแวดล้อมในการทำงานของโสเภณีในซ่องให้ดีขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวมการ์ตูนมังฮวาแนวบู๊ที่อ่าน

เกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) - ปลูกผักในคอนโด (8)