Consent คืออะไรและมีขอบเขตแค่ไหน
Consent คืออะไรและมีขอบเขตแค่ไหน
ในความเป็นจริงการคุกคามทางเพศ (การล่วงละเมิดทางเพศ) เกิดขึ้นได้กับทุกเพศและผู้กระทำผิดก็มีทุกเพศ แต่เนื่องจากรูปแบบที่เกิดขึ้นมากที่สุดยังคงเป็น “เพศชายคุกคามเพศหญิง” บทความนี้จึงเขียนในมุม “ชายคุกคามหญิง” เป็นหลักเพื่อให้เนื้อหาไปในทางเดียวผู้อ่านจะได้ไม่สับสน
หลังปี 2006 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระแส #metoo สังคมก็เริ่มตื่นตัวเรื่อง Sexual Harassment (การคุกคามทางเพศ) กับ Consent (ความยินยอม) กันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องดีเพราะปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กถือเป็นปัญหาสังคมอันดับต้นๆ ที่อยู่คู่สังคมมานาน ถูกละเลย ไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายส่วนใหญ่เหยื่อ (ที่มักจะเป็นผู้หญิงและเด็ก) ยังเป็นผู้ที่โดนกีดกันออกจากสังคม พร้อมทั้งต้องแบกรับความอับอายและผลจากการคุกคามจนแทบจะโดนสังคมฆ่าให้ตายซ้ำอีกรอบ
ในขณะที่ผู้กระทำ (ที่มักจะเป็นผู้ชาย) แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไร ยังได้รับการยอมรับจากสังคมและใช้ชีวิตได้ตามปกติ และถึงจะมีบางกรณีที่ถูกเปิดเผยและนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่เราต้องยอมรับความจริงว่าส่วนใหญ่ “กฎหมายใช้ได้แต่กับคนจน” หากผู้กระทำผิดเป็นคนรวย เกิดในชาติตระกูลดี มีชื่อเสียง มีอำนาจและมีเส้นสายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็แทบทำอะไรไม่ได้ และคนกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะใช้ทุกทรัพยากรที่ตนมีทำให้ชีวิตเหยื่อที่ถูกตนเอาเปรียบตกอยู่ในขุมนรกและยิ่งไม่กล้าแจ้งความเอาผิดมากขึ้นไปอีก
ทางทฤษฎีการตื่นตัวเรื่อง Consent เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะถ้าผู้มีแนวโน้มจะกระทำผิดเข้าใจและเคารพ Consent ของผู้อื่น การคุกคาม, การล่วงละเมิดกระทั่งถึงการข่มขืนก็จะไม่เกิดขึ้นแต่แรก แต่น่าเศร้าที่ในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น
ผู้มีแนวโน้มจะกระทำผิด แบ่งคร่าวๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอนุรักษนิยม (Conservative) ที่มักจะไม่รู้หรือไม่เคยสนใจเรื่อง Consent เพราะในสังคมชายเป็นใหญ่คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มักอนุโลมให้ผู้ชายทำอะไรก็ได้ไม่ผิดและผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ชาย เช่น การเห็นแก่ตัวในเรื่องเพศ การมีเมียน้อย การเที่ยวโสเภณี การไม่ต้องอยู่ช่วยเลี้ยงลูก การไม่ต้องทำงานบ้าน ฯลฯ ผู้ชายส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จึงยังคิดว่าสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ปกติดีอยู่แล้วเพราะตนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ พวกเขาจึงไม่รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องปรับพฤติกรรมหรือเรียนรู้ในสิ่งที่ทำให้ชีวิตตัวเองยุ่งยากขึ้น หากจะมีผู้ใดในกลุ่มนี้สนใจเรื่อง Consent ก็มักสนในแง่ “ทำยังไงให้เอาเปรียบผู้หญิงสมัยนี้แล้วผู้หญิงเอาเรื่องกลับไม่ได้” หรือ “ทำยังไงให้ไม่ติดคุก” หรือ “เพราะผู้หญิงยุคนี้เริ่มนิยมชายหัวก้าวหน้า การสนใจ Feminism หรือเรื่อง Consent จะทำให้ตนดูเป็นชายหัวก้าวหน้าที่ดูดีในสายตาหญิงเหล่านั้น” หรือ “อบรมลูกหลานยังไงไม่ให้ไปถูกผู้ชายคนอื่นเอาเปรียบ”
ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มเสรีนิยมหัวก้าวหน้า (Liberal) ที่สนับสนุน Feminism และรู้ทั้งรู้ว่า Consent คืออะไรแต่ ‘เลือก’ ที่จะไม่เคารพมันแล้วหาทางใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นเพื่อเอาเปรียบผู้อื่น กลับผิดเป็นถูก หรือลดทอนความผิดที่ตนไปละเมิดผู้อื่นจากหนักให้กลายเป็นเบา เฉกเช่นเดียวกับตำรวจ ทนายหรือผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมมากมายซึ่งเป็นผู้ที่รู้กฎหมายดีกว่าใครและควรจะใช้กฎหมายปกป้องผู้อื่นแต่กลับ ‘เลือก’ ที่จะใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นหรือคอร์รัปชันหาประโยชน์เข้าตัวเอง เช่น อ้างหลักการหรือทฤษฎีต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงขายตัวเพราะตัวเองจะได้หาซื้อผู้หญิงได้ง่ายขึ้น พยายามเปลี่ยนค่านิยมคนในสังคมให้มองว่าการซื้อบริการหรือมีเมียน้อยไม่ใช่เรื่องผิดศีลหรือมักมาก ยัดความคิดเรื่องฟรีเซ็กซ์แบบผิดๆ ให้เด็กและเยาวชนเพื่อเปิดช่องให้ตนหาประโยชน์ทางเพศกับผู้ที่ด้อยประสบการณ์กว่าได้สะดวกขึ้นและสามารถโยนความผิดไปที่เหยื่อว่า “เด็กสมยอมเอง”
จากประสบการณ์ส่วนตัว การอนุมานว่า “ผู้ชายที่สนับสนุน Feminism คือ ผู้ชายที่ดีให้เกียรติเพศหญิง” จึงใช้ไม่ได้เสมอไป
และผู้เขียนมองว่าชายกลุ่มนี้น่ากลัวกว่าชายกลุ่มแรก เพราะชายกลุ่มแรกมักไม่ค่อยปิดบังทัศนคติเหยียดเพศหญิงของตนทำให้ผู้หญิงทั่วไประวังตัวและหาทางหลีกเลี่ยงได้ง่ายกว่า ในขณะที่ชายกลุ่มหลังมักมาในรูปแบบสุภาพบุรุษ อ่อนโยน เข้าอกเข้าใจผู้หญิง พูดจาดูดีมีหลักการ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่รู้สึกปลอดภัยและวางใจว่าเขาเป็นคนดีซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็โดนชายกลุ่มนี้หักหลังความไว้ใจฉวยโอกาสเอาเปรียบทางเพศไปแล้ว
ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ล้วนมีคนดีคนไม่ดีปะปนกันและคนเราจะพูดหรือสร้างภาพให้ตัวเองดูดีแค่ไหนก็ได้แต่จะทำได้จริงอย่างที่พูดหรือเปล่านั้นอีกเรื่อง เราจึงควรหยุดใช้อคติแง่บวกมองผู้ชายหัวก้าวหน้าที่สนับสนุน Feminism ว่าพวกเขาจะให้เกียรติและไม่ล่วงเกินผู้หญิง หรือเหมารวมด้วยอคติแง่ลบว่าผู้ชายอนุรักษนิยมจะเป็นพวกเหยียดเพศพร้อมใช้ความรุนแรงกับเพศหญิงโดยอัตโนมัติ แต่ควรหันมาดูคนจากการกระทำเพื่อที่เราจะสามารถจำแนกและหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของคนไม่ดีได้มากขึ้น
แล้ว Consent (ความยินยอม) คืออะไร?
ความหมายตามศัพท์ภาษาอังกฤษจาก The American Heritage® Dictionary of the English Language, 5th Edition แปลตรงๆ ว่า “การยอมรับหรือความยินยอมในแผนหรือการกระทำใดๆ ของผู้อื่นที่มีผลต่อตนเอง” (Acceptance or approval of what is planned or done by another; acquiescence) สรุปง่ายๆ Consent คือ “ความยินยอมจากผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายในข้อตกลงต่างๆ ที่เป็นเรื่องระหว่างมนุษย์” เช่น ในเกมกีฬาผู้เข้าร่วมตกลงกับกติกาที่ว่าห้ามโจมตีใบหน้าของกันและกัน ทางการแพทย์ผู้ให้การรักษาห้ามเผยแพร่ข้อมูลของคนไข้ หรือการทำแบบสำรวจเก็บข้อมูลผู้ให้ข้อมูลอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะข้อมูลที่ตนอนุญาตและห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งหากข้อตกลงเหล่านั้นไม่ได้รับความยินยอมหรือมีการละเมิด Consent จากผู้เข้าร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีความเป็นไปได้สูงที่เมื่อดำเนินการต่อจะเกิดความขัดแย้งและมีการฟ้องร้องกันขึ้น
ประเภทของ Consent
Consent มีอยู่หลายประเภท แต่ละที่อาจแบ่งโดยใช้เกณฑ์ที่ต่างกัน เช่น
1.แบบมีหลักฐานอ้างอิงที่ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่น, การยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรหลังรับทราบข้อมูลครบถ้วน (มักใช้กับการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์) (documented consent, Informed consent) เช่น การทำหนังสือสัญญา, การบันทึกเสียง, การกด ‘ตกลง’ ตอนท้ายเงื่อนไขการให้บริการ (Term of Service) ตอนสมัครใช้บริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต
2.แบบเป็นนัย (Implied consent) ผู้ยินยอมไม่ได้ตอบเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรแต่แสดงออกทางพฤติกรรมว่ายินยอม เช่น การนิ่งเงียบ, การพยักหน้า, การไม่ขัดขืนหรือลุกหนี, การยอมเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บ เช่น การชกมวย, การเล่นฮ็อกกี้
3.แบบไม่เป็นเอกฉันท์หรือแบบหมู่คณะ (Unanimous consent) เป็นมติเห็นชอบของกลุ่มคนใดๆ เช่น ลูกบ้าน, คนในจังหวัด, สมาคม, กลุ่มการเมือง ซึ่งไม่ใช่ว่าสมาชิกทุกคนจะเห็นด้วยแต่ต้องยินยอมตามเสียงส่วนใหญ่
4.แบบยินยอมแทนผู้อื่น (Substituted consent) ในกรณีที่บุคคลไม่มีความสามารถในการให้ความยินยอมเอง เช่น ผู้ป่วยโคม่า ญาติที่มีอำนาจทางกฎหมายก็จะต้องเป็นผู้เซ็นยินยอมเรื่องต่างๆ แทน
เมื่อ Consent ถูกนำมาใช้ในเรื่องเพศ Consent จะหมายถึง “ความยินยอมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ” และในกรณีเรื่องทางเพศ “การละเมิด Consent” หมายถึง “การมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศหรือมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่ยินยอม” นั่นก็คือ ‘การลวนลาม, การคุกคามจนถึงการข่มขืน’
ที่น่ากลัวคือทุกวันนี้มีผู้ชายหัวก้าวหน้าหลายคนจงใจใช้วลี ‘ละเมิด Consent’ ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ แทนคำว่า ‘ข่มขืน’ เมื่อตนกระทำผิดเพื่อให้ความผิดของตนหรือของคนที่ตนเข้าข้างดูผิดน้อยลง รวมถึงบิดเบือนเหตุการณ์และการรับรู้ของเหยื่อ (Gas lighting) เพื่อให้เหยื่อสับสนและรู้สึกว่าการคุกคามที่เกิดขึ้นตนอาจยินยอมหรือเป็นฝ่ายผิดเอง
Consent ในเรื่องเพศ (Sexual Consent) นั้นไม่ได้ใช้เฉพาะกับการร่วมเพศเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เช่น การสัมผัสร่างกายในจุดซ่อนเร้นหรือการสัมผัสแบบมีนัยทางเพศ, การใช้ปากกับอวัยวะเพศ (Oral Sex), การแสดงภาพหรือข้อความเกี่ยวกับเรื่องเพศ, การโชว์อวัยวะเพศ
ในบทความนี้ต่อจากนี้ผู้เขียนจะใช้คำว่า ‘Consent’ แทน ‘Sexual Consent’
กิจกรรมทั้งหลายที่มีเรื่องเพศเกี่ยวข้องเหล่านี้หากฝ่ายใดกระทำกับอีกฝ่ายโดยไม่ได้รับความยินยอมถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศทั้งสิ้น
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ Consent
ถึงกระแส #metoo จะทำให้คนในสังคมตื่นตัวกับเรื่อง Consent กันมากขึ้นแต่ก็ต้องยอมรับความจริงอีกเหมือนกันว่าคนที่จะเข้าใจว่าที่จริงแล้ว Consent คืออะไรและมีขอบเขตแค่ไหนยังมีน้อยมาก แม้แต่คนที่ถูกละเมิดเองก็มีมากมายที่ยังไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องปกติและนั่นคือการล่วงละเมิด เพราะสังคมคาดหวังให้ผู้หญิงเงียบและอดทนมานานจนมันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ในเกาหลีเคยมีคดีที่ชายหญิงคู่หนึ่งออกเดตกันต่อมาฝ่ายชายหลอกฝ่ายหญิงเข้าโรงแรมแล้วขืนใจ ศาลตัดสินว่านั่นไม่นับเป็นการข่มขืนเพราะ “ตอนเดตฝ่ายหญิงตักอาหารให้ฝ่ายชายแปลว่าฝ่ายหญิงมีใจให้กับฝ่ายชายอยู่แล้ว” คดีนี้คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าศาลเกาหลีตีความว่า “การตักอาหารให้ฝ่ายชายคือการยินยอมที่จะมีเซ็กซ์ด้วย” ซึ่งนั่นเป็นตรรกะวิบัติ เพราะการยินยอมที่จะทำอะไรบางอย่างร่วมกันไม่ได้แปลว่าจะต้องยอมทำอีกอย่างร่วมกันเสมอไป เช่น หากบุคคลไปดูหนังที่บ้านเพื่อนไม่จำเป็นว่าเขาต้องยินยอมที่จะอยู่กินข้าวต่อโดยอัตโนมัติและไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับเขาให้อยู่กินข้าวต่อ และต่อให้ฝ่ายชายเป็นฝ่ายเลี้ยงข้าวหรือซื้อของให้ก็ไม่ได้แปลว่าฝ่ายชายจะมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะ ‘ถอนทุนคืน’ โดยการให้ฝ่ายหญิงตอบแทนด้วยเซ็กซ์เพราะ Consent ไม่ใช่สิ่งที่ซื้อขายหรือชดใช้คืนแทนสิ่งอื่นได้เหมือนทรัพย์สินทั่วไป
หรืออีกคดีหนึ่ง ทหารหญิงอายุ 19 ชาวอเมริกันถูกแท็กซี่ชาวเกาหลีข่มขืนแต่ผู้ข่มขืนถูกปล่อยตัวออกมาเพราะ “ผู้หญิงไม่ดิ้นรนมากพอ” เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าศาลเกาหลีตีความว่า “ขัดขืนไม่มากพอคือสมยอม” ซึ่งตรงกับตรรกะที่คนทั่วไปแม้กระทั่งคนไทยเองก็คิด ประเภทที่ว่า “ถ้าไม่เต็มใจก็ต้องดิ้นสุดแรงเกิดสิ ถ้าไม่ดิ้นก็แปลว่าสมยอมแล้ว” หรือ “ผู้หญิงก็แบบนี้ ตอนแรกก็ดีดดิ้นไปๆ มาๆ ก็เลิกดิ้น เล่นตัวไปงั้น” หรือ “ที่จริงก็ยอมแหละแต่ที่ดิ้นคือกะอัพราคา” ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นตรรกะวิบัติ เพราะปฏิกิริยาของแต่ละคนเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์คับขันนั้นแตกต่างกันและไม่ใช่ทุกคนจะตอบสนองด้วยการต่อสู้ขัดขืน
ทางจิตวิทยาพฤติกรรมเรียกปฏิกิริยานี้ว่า ‘Fight-or-flight response’ ซึ่งก็คือปฏิกิริยาของสัตว์เมื่อเจอกับภัยคุกคามจะเข้าโหมด ‘สู้’ (Fight) หรือ ‘หนี’ (Flight) ตามสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด มีบางทฤษฎีเพิ่ม ‘ตัวแข็งทื่อ’ (Freeze) เข้ามาด้วย
การ ‘ไม่ดิ้น’ จึงอาจหมายถึงอยู่ในสภาวะที่กลัวมากจนไม่กล้าขัดขืนหรือ ‘ตัวแข็งทื่อ’ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทั่วไปอย่างหนึ่งของเหยื่อ (ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นปฏิกิริยาของเหยื่อส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ) เพราะผู้หญิงมักสู้แรงผู้ชายไม่ได้สัญชาตญาณเลยสั่งให้หยุดขัดขืนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายต่อ ตามสัญชาตญาณร่างกายจะพยายามหาทางปกป้องเจ้าของร่างไม่ให้เจ็บปวดในทุกๆ ทางซึ่งอาจแสดงออกต่างกันในแต่ละคน เหยื่อบางรายสมองอาจตัดขาดความทรงจำของเหตุการณ์ในตอนนั้นจนมีความจำไม่ต่อเนื่องหรือความจำหายไป บางคนอาจมีความคิดชั่วแล่นไปถึงเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเลย เช่น คิดถึงการบ้านเลขที่ต้องกลับบ้านไปทำ หรือแม้กระทั่งเหยื่อบางคนอาจมีการหลั่งสารหล่อลื่นเพื่อลดการเจ็บปวดหรือถึงออกัสซัมจากการถูกข่มขืน (เหยื่อที่ออกัสซัมจากการถูกข่มขืนมักเกลียดตัวเองและสับสนเพราะคิดว่าตัวเองไม่ควร ‘มีความสุข’ จากการถูกข่มขืนซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ตัวเองขยะแขยง เหยื่อเหล่านี้ต้องเข้ารับการบำบัดให้เข้าใจว่านั่นเป็นแค่ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเหมือนการถูกจักจี้แล้วหัวเราะหรือการที่อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ทั้งที่ไม่ได้มีอารมณ์ทางเพศ)
ฉะนั้น การที่เหยื่อหยุดนิ่ง ไม่ขัดขืน มีการหลั่งสารหล่อลื่น หรือบางรายอาจถึงออกัสซัมจากการถูกข่มขืน ไม่ได้หมายถึงเหยื่อสมยอมและจะทำให้นั่นไม่ใช่การข่มขืนหรือทำให้ผู้ข่มขืนมีความผิดน้อยลง
องค์ประกอบของ Consent ในเรื่องเพศ
1.Freely given การยินยอมต้องเกิดจากความสมัครใจ 100% โดยไม่มีความกลัว ความกดดัน อาการมึนเมาขาดสติจากยาหรือสารเสพติด หรือเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวแปรให้เกิดขึ้น
2.Reversible สามารถเพิกถอนได้ตลอด บุคคลสามารถเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลาโดยไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่ตอนก่อนจะเริ่มหรือแม้จะกำลังช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มหรือมีอารมณ์พลุ่งพล่านแค่ไหนก็ตามและสามารถยกเลิกด้วยเหตุผลใดๆ หรือต่อให้ไม่มีเหตุผลเลยก็ได้
3.Informed ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจ หากฝ่ายใดจงใจปิดบังข้อมูลที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจของอีกฝ่าย เช่น ปิดบังสถานะของตนให้อีกฝ่ายคิดว่าตนเป็นคนรวย ยังโสดหรือมีสถานะที่ตนไม่ใช่ ปิดบังเรื่องที่ตนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปิดบังเพศที่แท้จริง ฯลฯ Consent ที่ได้รับจากการปิดบังเช่นนี้ถือเป็นโมฆะ
4.Enthusiastic ผู้ที่จะมีกิจกรรมทางเพศร่วมกันจะต้องมีความรู้สึกกระตือรือร้นกันทุกฝ่าย ไม่ใช่เข้าร่วมเพราะมันเป็นหน้าที่ จำใจ สงสาร หรือถูกบังคับ
5.Specific การยินยอมเฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้หมายถึงการจะยินยอมในทุกๆ เรื่อง เช่น การที่ฝ่ายหนึ่งยินยอมอีกฝ่ายให้จูบหรือกอดไม่ได้หมายถึงจะยินยอมให้อีกฝ่ายร่วมเพศด้วย
สรุปง่ายๆ Consent ทางเพศ หมายถึง คนที่มีเซ็กซ์กันจะต้อง ‘มีความอยาก’ กันทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งอยากแต่อีกฝ่ายไม่อยากหรือฝ่ายที่อยากทำทุกวิธีเพื่อให้อีกฝ่าย ‘ยอม’ ให้ได้ทั้งๆ ที่ไม่อยาก
แต่ในปัจจุบันเรากลับพบว่าคนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ชายมักเข้าใจแค่ว่า “อีกฝ่าย Consent คือ เซ็กซ์ครั้งนั้นไม่ใช่การข่มขืน” ชายเหล่านี้ไม่สนใจว่าการมีเซ็กซ์ควรเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อให้ทั้งคู่รู้สึกดีไม่ใช่ทำเพื่อให้ตนสำเร็จความใคร่ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องคำนึงถึงจิตใจของอีกฝ่าย พวกเขาจึงใช้ทุกวิธีเพื่อบีบเอา ‘Consent’ จากผู้หญิงซึ่งผู้หญิงจะรู้สึกยังไงก็ช่าง ต่อให้โกรธ เกลียด ขยะแขยง ไม่รู้สึกอยากมีเซ็กซ์เลยก็ไม่เป็นไรเพราะพวกเขาถือว่าตนได้รับ ‘Consent’ จากฝ่ายหญิงแล้ว และเขาจะใช้ ‘Consent’ ที่บังคับเอามานี้เป็นเกราะป้องกันตนเองจากถูกกล่าวหาว่า ‘ข่มขืน’ และเอาไว้หลีกเลี่ยงการรับโทษทางกฎหมายภายหลัง
วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่ง Consent แบบผิดๆ
นี่คือตัวอย่างของบางวิธีที่ชายเห็นแก่ตัวเหล่านี้ใช้ บางคนอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีผสมกัน
1.กดดันด้วยวาจาหรือเล่นสงครามประสาท เช่น การพูดย้ำๆ กับคนรักว่า “ถ้าไม่ยอมแปลว่าไม่รัก” หรือ “ถ้าไม่ยอมจะเลิกแล้วไปหาคนอื่นที่ยอม” หรือการตื๊อซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งที่ถูกปฏิเสธ แล้วถ้าคนรักยังไม่ยอมอีกก็ทำเย็นชาใส่ให้คนรักรู้สึกกดดันจนทนไม่ได้
2.ขู่จะใช้ความรุนแรง เช่น การขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะทำร้ายร่างกาย ทำร้ายคนในครอบครัวหรือสัตว์เลี้ยง ในกรณีของคู่รักที่ภรรยาเป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ การขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะไม่ให้เงินใช้หรือไล่ออกจากบ้านก็ถือเป็นการใช้ความรุนแรงแบบหนึ่งเช่นกัน (Financial Abuse)
3.ใช้อำนาจหน้าที่หรืออิทธิพลที่เหนือกว่าบีบบังคับหรือทำให้ฝ่ายหญิงเข้าใจโดยนัยว่า ถ้าไม่ยอมจะตกงาน ถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่ปลอดภัย
4.อ้างเหตุต่างๆ เพื่อให้ตนดูน่าสงสารแล้วใช้ความสงสารบีบให้ใจอ่อน เช่น การอ้างว่ากำลังเสียใจ เพิ่งถูกแฟนทิ้ง เสียคนในครอบครัว เป็นโรคร้ายมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ถ้าไม่ได้มีเซ็กซ์จะปวดหัว ฯลฯ มาเป็นเหตุจูงใจให้ฝ่ายหญิงยอมมีเซ็กซ์ด้วยความสงสารเพื่อให้ฝ่ายชายรู้สึกดีขึ้น ซึ่งถ้าฝ่ายหญิงไม่ยอมฝ่ายชายจะทำให้ฝ่ายหญิงรู้สึกผิดว่าเป็นคนใจดำ (ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยยังถูกเลี้ยงดูให้ไม่กล้าขัดใจคนอื่นหรือต้องเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่ารักษาผลประโยชน์ตัวเอง ผู้หญิงมากมายจึงยังตกเป็นเหยื่อของวิธีแบบนี้)
5.ใช้ค่านิยมของสังคมหรือหมู่คณะบีบบังคับ เช่น การทำเป็นเล่นมุกแซวว่า “อายุขนาดนี้ไม่เคยมีเซ็กซ์เลยถ้าไม่ใช่เลสเบี้ยนก็คือไม่มีใครเอา” หรือ “ยังไม่เคยมีเซ็กซ์แปลว่ายังเด็กอยู่นี่นา” หรือ “เพื่อนในกลุ่มทุกคนเคยมีเซ็กซ์กันหมดแล้วถ้าไม่รีบลองถือว่าเชยเดี๋ยวเพื่อนไม่คบ” หรือ “พ่อแม่อยากอุ้มหลานแล้ว” หรือ “เป็นผู้ชายทั้งแท่งแต่ดันไม่ปล้ำผู้หญิงเป็นตุ๊ดรึเปล่า” หรือ “เลสเบี้ยนที่ไม่มียอมมีเซ็กซ์กับหญิงข้ามเพศแปลว่าเป็น TERF”
6.ใช้สิ่งมึนเมาหรือสารเสพติดมอมให้ฝ่ายหญิงสลบหรือไม่มีสติมากพอจะปฏิเสธหรือขัดขืน ซึ่งหากล่วงละเมิดฝ่ายหญิงสำเร็จฝ่ายชายก็มักจะบิดเบือน (Gaslighting) ใส่เหยื่อในภายหลังว่า “ตอนนั้นผู้หญิงเต็มใจเอง” หรือ “เมากันทั้งคู่” แล้วกล่าวหาว่าฝ่ายหญิงแค่นึกเสียใจกับการตัดสินใจของตัวเองเลยโทษว่าโดนฝ่ายชายข่มขืนเพื่อโยนความผิดให้ฝ่ายชาย ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ถูกวางยาหรือมอมเหล้าข่มขืนมักไม่กล้าเอาผิดกับฝ่ายชายเพราะไม่มั่นใจว่าตอนนั้นตนสมยอมจริงหรือไม่
หากบุคคลอยู่ในสภาพเมามายไม่ได้สติถือว่าไม่สามารถให้ Consent ได้ทุกกรณี ฉะนั้นต่อให้ผู้หญิงเมาแล้วแก้ผ้ายั่วยวน ฝ่ายชายก็ไม่มีสิทธิ์จะล่วงเกินฝ่ายหญิงแล้วอ้างว่าฝ่ายหญิงเข้าหาก่อนได้ เช่นเดียวกับการเห็นของมีค่าวางอยู่ ต่อให้วางในที่ที่ล่อตาล่อใจแค่ไหนก็ไม่สามารถขโมยไปแล้วอ้างว่า “เพราะมันอยู่ตรงนั้นแปลว่ามันยั่วให้เก็บ” ได้ ผู้ชายที่ดีที่เคารพ Consent เมื่อเจอผู้หญิงเมาจะไม่ฉวยโอกาสล่วงเกินเด็ดขาดไม่ว่าผู้หญิงจะเชิญชวนขนาดไหนก็ตาม
ตัวอย่างสถานการณ์เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น
เช่น ฝ่ายชายลักลอบไปหาฝ่ายหญิงถึงที่พัก ฝ่ายหญิงที่รออยู่ให้ความร่วมมือในการวางแผน ช่วยในการปีนเข้ามา หาที่ซ่อนให้แล้วพลอดรักกันด้วยความตื่นเต้นและกระตือรือร้นทั้งคู่ นี่คือ Consent (แต่ถูกผิดว่ากันอีกเรื่อง)
แต่ถ้า...
1.ชายหญิงคู่หนึ่งคบหาเป็นแฟนกัน ฝ่ายชายพยายามกดดันฝ่ายหญิงให้มีเพศสัมพันธ์กับตนโดยอ้างว่าหากฝ่ายหญิงไม่ยอมแปลว่าไม่รักตน ฝ่ายหญิงรักฝ่ายชายเลยยอมมีเซ็กซ์ด้วยทั้งที่ไม่อยากมี ความยินยอมที่ได้รับจากความกดดันเช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
2.ระหว่างนั่งดูหนังกันที่บ้าน ฝ่ายชายขอมีเซ็กซ์แต่ฝ่ายหญิงปฏิเสธบอกว่าไม่พร้อมแล้วนั่งดูหนังกันต่อ ฝ่ายชายไม่ยอมเลิกราพยายามตื๊อต่ออีกหลายสิบครั้งจนฝ่ายหญิงยอมตอนโดนตื๊อครั้งที่ 38 เพราะดูหนังไม่รู้เรื่องทนรำคาญไม่ไหว ความยินยอมที่ได้รับจากการตัดรำคาญหรือทำให้จบๆ เช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
3.ชายหญิงคู่หนึ่งกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มแต่จู่ๆ ฝ่ายหญิงเกิดกลัวจึงขอยกเลิก ฝ่ายชายไม่ยอมโดยอ้างว่าตนมีอารมณ์แล้วเลยบังคับร่วมเพศกับฝ่ายหญิงต่อซึ่งพอฝ่ายหญิงสู้แรงไม่ได้เลยยอมปล่อยเลยตามเลย Consent สามารถยกเลิกได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนเข้าด้ายเข้าเข็ม ความยินยอมที่เกิดจากภาวะจำยอมเพราะขัดขืนไม่ได้เช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
4.ชายเจอหญิงที่ถูกใจจึงพยายามมอมเหล้าหรือวางยาเสียสาวแล้วพออีกฝ่ายเมามายมีอารมณ์ทางเพศค่อยพาขึ้นเตียง ความยินยอมที่เกิดจากความมึนเมาหรือไม่อยู่ในสภาพที่สามารถตอบรับหรือปฏิเสธอย่างมีสติไม่นับเป็น Consent
5.ฝ่ายชายปิดบังฝ่ายหญิงว่ามีภรรยาอยู่แล้วลวงให้ฝ่ายหญิงยอมมีเซ็กซ์เพราะหวังว่าฝ่ายชายจะแต่งงานด้วย ซึ่งหากฝ่ายหญิงรู้ว่าฝ่ายชายมีภรรยาแต่แรกฝ่ายหญิงจะไม่ยอมมีเซ็กซ์กับฝ่ายชายเด็ดขาด ความยินยอมที่เกิดจากการปิดบังข้อมูลที่แท้จริงเช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
6.ฝ่ายชายสัญญาว่าจะมอบทรัพย์สินหรือให้ผลประโยชน์หากยอมมีเซ็กซ์ด้วย ความยินยอมที่เกิดจากการล่อลวงหรือตกลงแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์เช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
การค้ากามไม่นับเป็น Consent ทุกกรณีเพราะ Consent ไม่ใช่สิ่งที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ความยินยอมเพราะอยากได้เงินอาจนับเป็น Consent ในการให้เช่าใช้ร่างกาย (ซึ่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์) แต่ไม่นับเป็น Sexual Consent
7.ฝ่ายชายเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ไม่ยอมบอกฝ่ายหญิงก่อนมีเซ็กซ์ ฝ่ายชายจะอ้างไม่ได้ว่า “ใส่ถุงยางยังไงก็ไม่ติดโรคอยู่แล้วบอกหรือไม่ก็ไม่ต่างกัน” เพราะฝ่ายหญิงควรได้รู้ทุกเรื่องที่อาจมีส่วนให้การตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ความยินยอมที่ได้จากการอำพรางความจริงเช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
8.ชายหญิงตกลงมีเพศสัมพันธ์กันโดยใช้ถุงยางอนามัย แต่ระหว่างการร่วมเพศฝ่ายชายแอบถอดถุงยางออกโดยไม่บอกฝ่ายหญิง ความยินยอมที่ถูกฝ่ายหนึ่งละเมิดข้อตกลงในภายหลังโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้เช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
การลอบถอดถุงยางอนามัยออกหรือ ‘Stealthing’ ในอเมริกาและประเทศทางยุโรปส่วนใหญ่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะเป็นการทำให้อีกฝ่ายตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดโรคหรือตั้งครรภ์โดยไม่รู้ กฎหมายบางรัฐในอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย ถือว่าเป็นการข่มขืนแต่ในไทยยังไม่มีข้อมูลว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ฉะนั้นก่อนมีเพศสัมพันธ์กับใครจึงควรศึกษาหาข้อมูลหรือเรียนรู้อีกฝ่ายให้ดี
9.คู่รักแต่งงานกันมานานแต่วันหนึ่งฝ่ายชายกดดันให้ฝ่ายหญิงยอมมีเซ็กซ์หมู่ร่วมกับคู่รักคู่อื่นเพื่อสร้างสีสันให้กับชีวิตเซ็กซ์ของทั้งคู่ ด้วยความที่รักฝ่ายชายและกลัวว่าฝ่ายชายจะเสียใจหรือจะเลิกกับตนทำให้ฝ่ายหญิงยอมตกลง ความยินยอมที่ได้จากภาวะจำยอมเช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
10.หญิงเต็มใจมีเพศสัมพันธ์กับชายคนหนึ่งแต่เพิ่งรู้ภายหลังว่าชายคนนั้นเป็นชายข้ามเพศจึงแจ้งความเอาผิด ชายคนนั้นยืนยันว่าตนไม่ผิดเพราะฝ่ายหญิงยินยอมที่จะมีเซ็กซ์เอง ความยินยอมที่ได้จากการปิดบังความจริงที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจเช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
11.คู่รักมีเพศสัมพันธ์กันตามปกติแต่ฝ่ายชายจู่ๆ ก็ร่วมเพศกับฝ่ายหญิงทางทวารหนักโดยที่ฝ่ายหญิงไม่รู้ล่วงหน้าและอยู่ในสภาพที่ขัดขืนไม่ได้ (ฝ่ายหญิงยินยอมที่จะร่วมเพศกันทางช่องคลอดปกติ การร่วมเพศทางทวารหนักไม่อยู่ในข้อตกลง) ความยินยอมที่เกิดจากภาวะจำยอมในเงื่อนไขที่ไม่ได้ตกลงกันล่วงหน้าเช่นนี้ไม่นับเป็น Consent
12. ชายหญิงคู่หนึ่งเป็นเพื่อนทางอินเทอร์เน็ต คุยกันได้พักหนึ่งฝ่ายชายก็ชวนคุยเสียวแล้วถ่ายรูปลึงค์ของตนส่งให้ฝ่ายหญิงดู การคุยเรื่องเพศหรือส่งรูปอวัยวะเพศของตนโดยไม่ถามความสมัครใจของคนอื่นว่าพวกเขาอยากรู้อยากเห็นหรือไม่ นี่คือการละเมิด Consent
13.ชายหญิงที่ร่วมเพศกันในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านเพราะอยากได้ความตื่นเต้นจากการลุ้นว่าจะมีคนเห็นหรือไม่ รวมไปถึงพวก Kink (รสนิยมทางเพศที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานทั่วไป) อื่นๆ เช่น พวกนิยม BDSM ที่ใส่สายจูงสุนัขแล้วจูงกันเดินตามถนน ใส่ชุดหนังรัดรูปเน้นโชว์รูปร่างของอวัยวะเพศ หรือแต่งตัวเป็นทารกใส่ผ้าอ้อมออกมาเดินในที่สาธารณะ ฯลฯ ความอยากให้คนอื่นเห็นกิจกรรมทางเพศของตนโดยไม่ถามความสมัครใจของคนอื่นว่าพวกเขาอยากเห็นหรือไม่ นี่คือการละเมิด Consent
การเกิดอารมณ์ทางเพศจากแสดงกิจกรรมทางเพศต่อหน้าผู้อื่น (Exhibitionism หรือโรคชอบโชว์) เป็นพฤติกรรมหรือความรู้สึกทางเพศที่ผิดปกติ (Paraphilic Disorder) รูปแบบหนึ่งซึ่งหากอาการไม่รุนแรงและอยากแสดงกิจกรรมทางเพศแบบมีผู้ชมจริงๆ ก็ควรนัดหมายกันเฉพาะในกลุ่มผู้มีรสนิยมเดียวกันแล้วทำในสถานที่ปิด แต่หากผู้ใดพบว่าตนมีพฤติกรรมดังกล่าวและควบคุมตนเองไม่ได้ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะลุกลามจนเป็นภัยสังคม
การป้องกันตัวไม่ให้ถูก ‘ละเมิด Consent’
จากตัวอย่างสถานการณ์ด้านบนเราสามารถแบ่ง ‘การละเมิด Consent’ คร่าวๆ ได้ 3 ประเภท คือ
1.การใช้อำนาจ พละกำลัง หรือสิ่งมึนเมา เป็นเครื่องมือบีบบังคับ
2.การหลอกลวง ปิดบังข้อมูล หลอกล่อด้วยทรัพย์สินหรือเงื่อนไขบางอย่าง
3.ใช้ความไม่มั่นใจในตัวเองของผู้หญิงเองเป็นตัวเปิดช่อง
การระมัดระวังตัวไม่ให้ถูกใครใช้อำนาจ พละกำลัง หรือสิ่งมึนเมา เป็นเครื่องมือบีบบังคับนั้นใช้การระมัดระวังเช่นเดียวกับอาชญากรรมทั่วไป การละเมิดรูปแบบนี้เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และผู้มีแนวโน้มจะกระทำไม่ได้มีแค่คนแปลกหน้าแต่อาจเป็นคนที่เรารู้จักหรือไว้ใจ สิ่งสำคัญคือการเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์หรือเจอกับคนผู้ใดที่ทำให้รู้สึกกลัว กระวนกระวาย หรือไม่สบายใจ จงเชื่อมั่นในความรู้สึกนั้นแล้วหาทางถอยออกมาก่อน
มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะนี้แต่กลับปฏิเสธที่จะฟังสัญชาตญาณตนเองจนสุดท้ายตนต้องเผชิญกับอันตรายจริงตามที่สัญชาตญาณพยายามเตือนไว้ (มีหนังสือชื่อ The Gift of Fear เขียนโดย Gavin de Becker ที่พูดถึงเรื่องนี้โดยตรง หนังสือกล่าวถึงการเรียนรู้ที่จะสังเกตสัญญาณอันตรายในสถานการณ์ต่างๆ โดยใช้ ‘พรแห่งความกลัว’ สิ่งที่อยู่คู่มากับมนุษย์และช่วยให้มนุษย์มีชีวิตรอดมาถึงปัจจุบัน หากสนใจสามารถค้นหาซื้ออ่านได้ตามอินเทอร์เน็ต)
กรณีได้รับข้อเสนอหรือทรัพย์สินแล้วหลังมีเพศสัมพันธ์ทุกอย่างไม่เป็นไปตามข้อตกลงจะเข้าเงื่อนไขเดียวกับอาชญากรรมประเภทต้มตุ๋นหลอกลวงอื่นๆ การป้องกันคืออย่าละโมบและหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ส่วนการปิดบังข้อมูลหรือหลอกลวงนั้นป้องกันได้ยากเพราะคนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ ทำได้มากที่สุดคืออย่าเชื่อคนง่าย อย่าเชื่อคนเพราะเห็นว่าเขาดูดีและควรศึกษานิสัยใจคอหรือเรียนรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายให้ดีพอก่อนมอบความไว้วางใจ
สำหรับผู้ที่ถูกคนไม่หวังดีใช้ความไม่มั่นใจ ความเหงา ความลังเล ความขี้เกรงใจไม่กล้าปฏิเสธของตนเป็นตัวเปิดช่องเข้ามาละเมิด การป้องกันที่ดีที่สุดคือการสังเกตและระบุให้ได้ว่าบุคคลที่กำลังพูดคุยด้วยอยู่มีเจตนาดีต่อตนจริงหรือไม่หรือแค่ต้องการใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนมาเอารัดเอาเปรียบ
หากรู้ว่าตนใจไม่แข็งพอ พยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องเพศหรือเรื่องที่ล่อแหลมกับผู้ที่ยังไม่รู้จักกันดี และหากคนที่ยังไม่รู้จักกันดีจู่ๆ เข้ามาชวนคุยเรื่องเพศหรือพยายามนัดเจอ 2 ต่อ 2 ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเขาอาจมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ และหากพูดเตือนไปตรงๆ หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องแล้วเขายังวกเข้าเรื่องเพศอีกก็ลดการติดต่อลงหรือตัดการติดต่อ เพราะแม้เขาจะเป็นคนคุยสนุกแค่ไหนแต่การละเมิดขอบเขต (Boundary) ที่เราตั้งไว้เป็นธงแดงที่บ่งบอกว่าคนคนนี้ไม่ได้เคารพความเป็นบุคคลของเราหรือพูดง่ายๆ คือ “ไม่ได้ให้เกียรติเราเลย” แล้วกับคนที่ไม่ได้ฟังเราเลยเราจะไปให้ค่าหรือเสียเวลาคุยต่อทำไม คุยไปก็มีแต่เขาจะหาทางทดสอบขอบเขตของเราและหาทางละเมิดอีกเรื่อยๆ และหากไม่มั่นใจจริงๆ ว่าสถานการณ์ที่ตนกำลังเผชิญอยู่คืออะไรก็ควรปรึกษาผู้ปกครอง ผู้อาวุโสกว่า หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ เพราะหลายครั้งการมองเหตุการณ์จากสายตาบุคคลที่ 3 อาจทำให้เข้าใจสถานการณ์จริงได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เอง
หัวใจสำคัญของการจะปกป้องตนเองจากการถูกละเมิด Consent คือ “การกำหนดขอบเขตของตนเองและบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพ” (set boundaries and enforce them) เช่น การกำหนดขอบเขตว่าตนสามารถกินข้าวกลางวันหรือกินข้าวเย็นกับเพื่อนร่วมงานเพศตรงข้ามได้แต่จะไม่ไปเที่ยวกลางคืน 2 ต่อ 2 หรือไปเที่ยวกลางคืนด้วยได้แต่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด เมื่อถูกเพื่อนร่วมงานคะยั้นคะยอโดยอ้างเหตุผล 108 ก็ให้ยืนกรานตามขอบเขตของตนไว้อย่าให้มีข้อยกเว้น (หากมีข้อยกเว้นขึ้นมาเท่ากับเราละเมิดขอบเขตเอง ต่อไปคำพูดเราจะไม่น่าเชื่อถือและการบังคับใช้ขอบเขตกับคนอื่นจะยากขึ้นไปอีก หากจะละเมิดเพื่อใครหรืออะไรก็ควรพิจารณารายกรณีให้ดีด้วย)
หรือ การตกลงจะร่วมเพศกับแฟนโดยใช้ถุงยางอนามัยแต่พอถึงเวลาจริงถุงยางหมด แม้แฟนจะคะยั้นคะยอขอมีเซ็กซ์ต่อโดยอ้างว่า “ไม่เป็นไรเดี๋ยวรับผิดชอบเอง” หรือ “ไม่ไว้ใจเหรอ” ก็ต้องใจแข็งปฏิเสธและยืนกรานตามขอบเขตของตนให้ได้ จำไว้ว่าหากพลาดขึ้นมาผู้ที่ติดโรคหรือตั้งท้องก็คือตัวเอง จะไปรอเรียกหาความรับผิดชอบจากคนอื่นคงยากและส่วนใหญ่ผู้ชายที่บอกว่า “ไม่เป็นไรเดี๋ยวรับผิดชอบเอง” พอผู้หญิงตั้งท้องขึ้นมาจริงๆ ก็มักบ่ายเบี่ยงไม่รับผิดชอบตัดการติดต่อหรือหายหัวไปเลย
ทุกวันนี้สังคมมีความซับซ้อนขึ้นรูปแบบและช่องทางการติดต่อการปฏิสัมพันธ์กันก็มีมากขึ้น คนไม่ดีจึงสามารถใช้ช่องทางเหล่านี้เอาเปรียบผู้อื่นได้ง่ายๆ และพร้อมจะพลิกลิ้นให้คนถูกเอาเปรียบกลายเป็นคนผิดได้อีก เราจึงต้องรู้เท่าทันความคิดของคนพวกนี้จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจคำว่า ‘Consent’ มากขึ้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ไม่หวังดีที่คิดจะใช้ความรู้เรื่อง Consent ในการหาช่องโหว่เพื่อละเมิดผู้อื่น
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/MeToo_movement
https://en.wikipedia.org/wiki/Consent
https://www.plannedparenthood.org/learn/relationships/sexual-consent
https://www.law.cornell.edu/wex/consent
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430827/
https://www.loveisrespect.org/everyone-deserves-a-healthy-relationship/understand-consent/
https://care.ucr.edu/education/what-is-consent
https://www.npr.org/2021/03/01/972452455/navigating-consent-is-all-about-communication-heres-where-to-start
https://www.plannedparenthood.org/learn/relationships/sexual-consent/how-do-i-talk-about-consent
https://en.wikipedia.org/wiki/Fight-or-flight_response
https://www.medicalnewstoday.com/articles/fight-flight-or-freeze-response
https://www.stress.org/how-the-fight-or-flight-response-works
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น