รัก-ใคร่-ใคร่ครวญ


รัก-ใคร่-ใคร่ครวญ เพราะรักและใคร่จึงใคร่ครวญ : การสนทนาและใคร่ครวญเป็นท่วงทำนองของการรู้จักรัก 


แมวน้ำ : พี่คะ แมวน้ำอยากได้นิยายแบบไม่ใช่แนวรัก หวานเลี่ยนน้ำตาลอาย ขอแบบหนักๆ จัดเต็มๆ สำนวนดีๆ

พี่ บก. : … (ทำหน้าอึ้งไปเล็กน้อย) ไม่มีหรอกค่ะ ส่วนใหญ่แนวรักทั้งนั้น ต้องลองเรื่องนี้ (หยิบ “รักใคร่ ใคร่ครวญ” ออกมาวางให้เห็น) หนักหน่อย แบบที่แมวน้ำบอกไม่รักนี่ต้องเล่มนี้ค่ะ (ชี้ไปที่หนังสือ “บุคคลเพศหลากหลายในระบบกฎหมาย” )

แมวน้ำ : … (แมวน้ำทำหน้าเงิบแทน…)

นี่คือจุดเริ่มที่ฝังใจกับนิยาย “รักใคร่ ใคร่ครวญ” เลยต้องไปอ่านตัวอย่างที่เว็บ MEB ก่อน บทตัวอย่าง โอ้… เจ๋งอ่ะ แต่จะดีจริงเหรอ กลัวจบไม่ดี จบไม่เป็น แพงเหมือนกันนะ … ปกก็อืม… (ปกเก่า) เอาเข้าบ้านไม่กล้าให้เพื่อนมารื้อชั้นหนังสือแน่ๆ งั้น ไว้ก่อน… 

และแล้วตัวหนังสือเล่มๆ ก็มาอยู่ในมือ อ่านจบแล้ว 414 หน้า ใช้เวลาอ่าน 4 วันเต็ม ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ปกติไม่อ่านนิยายช้าขนาดนี้ แมวน้ำอ่านนิยายหนา 200-400 หน้าวันเดียวจบ ความเร็วอ่านเรื่องนี้พอๆ กับตอนอ่านหนังสือแนวคิดจิตวิทยา - ปรัชญาเลย

คะแนน 9/10 ค่ะ

เนื้อเรื่อง : ปมเดิมๆ ค้นหาตัวตนของตัวเอง กับ ความรักระหว่าง 2 หญิง 1 ชาย

สำนวน : ศัพท์ไม่วิจิตร แต่การเรียบเรียงร้อยถ้อยคำยอดเยี่ยมมาก

การดำเนินเรื่อง : ค่อยๆ ยัดปมปัญหาให้ตัวละคร พร้อมกับค่อยๆ ถอดเปลือกหุ้มตัวละครให้คนอ่านรู้ทีละน้อย

ตัวละคร : ถ้าบอกว่าเอามาจากเรื่องจริงจะไม่แปลกใจเลย เพราะตัวละครลึกมาก ลึกจนชวนสงสัยว่าจะมีคนที่สามารถเข้าใจจิตใจตัวเองได้ขนาดนี้จริงหรือ

อื่นๆ : ข้อมูลความสมจริงในเรื่อง ถ้าไม่ใช่ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนถือว่าเป็นคนที่ทำข้อมูลได้ดีเลย

พิเศษ : ข้อคิด, ความรู้แนวคิดทางปรัชญาในเรื่อง เยอะจนเรียกว่าคนอ่านสำลักเกือบทุกหน้า บีบคั้นหัวใจและเป็นกระจกสะท้อนให้ถามหัวใจผู้อ่านตลอดทั้งเล่ม ซึ่งถ้าผู้อ่านมีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครแล้วแต่ละบทสนทนาของตัวละครจะตีแสกหน้าและเฉือนความลับที่ซุกซ่อนของผู้อ่านพร้อมๆ กับตัวละคร

กลุ่มผู้อ่าน : ไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการแนวรักหวานๆ ใสๆ วัยรุ่น เดินเรื่องเบาๆ อ่านรวดเดียวจบและไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับคนร้องไห้ง่ายเพราะแต่ละบทที่ผ่านไปชวนให้คนอ่านสะอื้นได้ทั้งเล่ม และไม่เหมาะสมอย่างยิ่งยวดสำหรับคนคิดมากเพราะจะอ่านไม่จบเล่มสักที อ่านแล้วคิดไม่ไปต่อ แช่อยู่ตรงนั้น

ความคิดเห็นส่วนตัว :

จุดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่การใช้ถ้อยคำ การดำเนินเรื่องและการเจาะลึกตัวละครถึงแก่น อ่านเรื่องนี้แมวน้ำต้องงัดความรู้ปรัชญาและจิตวิทยาที่เคยเรียนมาปัดฝุ่นตอนอ่านกันเลย

เรื่องนี้เป็นเรื่องของการตั้งคำถามให้กับตัวละครทั้งเรื่อง

ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากมากที่จะตั้งคำถามได้มากมายขนาดตัวละครในเรื่อง เพราะชีวิตแต่ละคนไม่ได้มีโอกาส จังหวะที่จะได้สนทนาเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามที่หัวใจสงสัย แต่เมื่อได้เริ่มอ่านเรื่องนี้ ใช่หลายคำถามเราสงสัยและลืมไปแล้ว หลายคำถามเป็นคำถามที่เรายังสงสัยอยู่ และหลายคำถามเป็นคำถามที่เราไม่ได้นึกถึง แต่คำตอบของตัวละครไม่ใช่คำตอบของผู้อ่านทุกคนเสมอไป

ถ้าปล่อยให้สมองตัวเองรับรู้ไปตามสิ่งที่ตัวละครบอกเพียงฝ่ายเดียวจะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่แฝงในเรื่องคือการให้ผู้อ่านได้คิดๆ ๆ ๆ และคิดอีก คิดแบบที่ผู้อ่านเป็น ไม่ใช่แบบที่วางเงื่อนไขตัวละครไว้ เมื่อเรามองทั้งในมุมของตัวละครและผู้อ่าน จะพบคำตอบที่มากและกว้างและหลากหลาย แต่กลับรวมมาที่จุดเดียวกันคือ “ความรักและการตอบสนองความรัก”

เมื่อมาถึงตอนจบแน่นอนหลายคนต้องไม่ยอมรับและเกิดทำถาม “ทำไม”

ความคิดส่วนตัวมันเหมือนเป็นการย้ำแล้วย้ำอีกของผู้เขียนว่านี่คือ “นิยาย” ความเป็นจริงไม่ใช่ “นิยาย” บทจบมีได้มากมายเหมือนที่ตัวละครในเรื่องเขียนบทจบนิยายของตัวละคร และเหมือนที่ผู้เขียนเขียนบทจบนิยายของผู้เขียน ผู้อ่านล่ะจะเขียนบทจบของผู้อ่านอย่างไร (แต่ก็ควรให้เกียรติการเลือกบทจบของผู้เขียนด้วย)

ส่วนที่ทำให้หงุดหงิดกับเรื่องนี้คงเป็นที่ยังกดดันตัวละครไม่สาแก่ใจ ด้วยเริ่มต้นใช้ฉากเป็นปัตตานี แมวน้ำนึกถึงปมปัญหาวัฒนธรรมขึ้นมาทันทีคือ เรื่องศาสนาและการไม่ยอมรับการรักเพศเดียวกันของชุมชนมุสลิมนั้น แต่… ผู้เขียนไม่เน้นตรงนี้มีบอกบ้างแต่เบาบางจนราวกับว่า สังคมนั้นรับรู้และยอมรับกลายๆ ซึ่งแมวน้ำเคยอาศัยในกลุ่มชุมชนมุสลิมในกรุงเทพฯ มาระยะหนึ่ง มันไม่ง่ายเลยที่ผู้หญิงสองคนที่ไม่ได้เป็นคนรักเพศเดียวกันจะเดินจับมือกัน ขนาดพี่น้องญาติเพศเดียวกันยังต้องระวังการแตะเนื้อต้องตัว ทำไมสังคมในเรื่องมัน “ปล่อย” มากขนาดนี้ แมวน้ำไม่เคยอยู่ปัตตานีเลยไม่รู้จริงๆ ว่าที่นั่นไม่เหมือนชุมชนมุสลิมกรุงเทพฯ หรือ ถึงผู้เขียนจะให้เหตุผลว่าตัวละครตัวหนึ่งใช้คำนำหน้า “นาง” สิ่งป้องกันคำครหาแล้วก็ตาม มันไม่ง่ายจริงๆ นะกับการจะหลบสายตาที่สังเกตคนต่างศาสนาในชุมชนของเขา

มีเพียงท้ายเรื่องเท่านั้นที่ยังทำให้รู้สึกว่าเรื่องเกิดขึ้นที่ปัตตานีแต่ก็เหมือนกับเลือกสถานที่เพื่อให้เกิดเหตุขึ้นมากกว่าเพราะตัวละครไม่ได้รู้สึกรู้สากับพื้นที่เหมือนที่บรรยายในบทแรกๆ เลย

กับอีกเรื่องที่ทำให้คะแนนที่เคยให้ลดลงคือ การเจาะลึกหัวใจของตัวละคร มันมากจนล้นเกินไป เหมือนตัวละครรู้จักตัวเองดีท่องแท้ ถ้าเป็นเช่นนั้นคงเฉียดใกล้การบรรลุทางวิญญาณไปแล้ว ซึ่งถ้าขนาดนั้นทำไมยังมีผิดพลาด ในบางครั้งความเป็นมนุษย์ทำให้มนุษย์เองยังไม่รู้เลยว่าตัวเองคิดอะไร พอตัวละครเข้าใจที่จะรักอย่างรวดเร็วและเข้าใจที่จะวางได้อย่างรวดเร็วเกินไป จึงทำให้นี่ไม่เหมือนคนที่มีเลือดเนื้อแต่เป็นเพียงตัวละครที่ถูกสร้างขึ้น หากยอมจำนนด้วยสถานการณ์และความอ่อนแอในความเป็นมนุษย์ของตนเองดูจะมีน้ำหนักมากกว่า หรือบางทีด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษจึงทำให้ระยะเวลาที่จะตกตะกอนมันไม่พอดีก็เป็นได้

สุดท้ายยังชอบเรื่องนี้และแนวคิดมากมายที่แฝงเอาไว้ จนทำให้อยากกลับไปหยิบหนังสือที่เคยเรียนมาอ่านทบทวนอีกรอบ ชอบเสมอที่ผู้เขียนเน้นย้ำการไม่ตัดสิน เพราะใช่ ไม่มีใครจะตัดสินใครได้ และถ้าไม่อยากถูกตัดสินก็จงอย่าไปตัดสินใครก่อน

อ่านจบแล้วมันรู้สึกคว้าง อ้างว้าง ราวกับไม่สามารถจับยึดความคิดอะไรในเรื่องได้เลยทั้งที่แท้จริงความคิดมันอัดแน่นเต็มไปหมด ทุกบท ทุกประโยค ทุกเหตุการณ์

ปล. ส่วนตัวสุด อยากเขียนให้ได้แบบนี้บ้างอ่ะ

ปล.2 รูปมาจากเพจ สนพ. สะพาน
https://www.facebook.com/sapaanpub/photos/a.783747041701786.1073741827.783747008368456/917037418372747/?type=3

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวมการ์ตูนมังฮวาแนวบู๊ที่อ่าน

เกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) - ปลูกผักในคอนโด (8)